xs
xsm
sm
md
lg

แม้แต่เด็กปาเลสไตน์ก็ถูกบีฑาจากอิสราเอลผู้ยึดครอง

เผยแพร่:   โดย: เมล ฟริคเบิร์ก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Palestinian children feel security lash
By Mel Frykberg
16/02/2015

มีเด็กชาวปาเลสไตน์กว่า 150 คนกำลังถูกอิสราเอลกักขังทั้งใน “ดินแดนที่ถูกยึดครอง” และภายในอิสราเอลเอง ด้วยข้อหา “ฝ่าฝืนมาตรการรักษาความปลอดภัย” พวกเขาเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่ละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ในหลายๆ กรณี กฎหมายอาญาที่ถูกนำมาใช้กับผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์นั้นมีความเข้มงวดมากกว่าและกระทั่งรุนแรงยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้กับผู้ใหญ่ชาวอิสราเอลด้วยซ้ำ

รามัลเลาะห์, เวสต์แบงก์ - มาลัค อัล คอติบ (Malak al Khatib) ผู้อยู่ในวัย 14 ปี เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังชาวปาเลสไตน์ที่อายุน้อยที่สุด และก็เป็นหนึ่งในจำนวนหยิบมือที่เป็นเด็กผู้หญิง เธอได้รับการปล่อยตัวจากคุกของอิสราเอลเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และได้กลับคืนสู่อ้อมแขนของสมาชิกในครอบครัวตลอดจนผู้สนับสนุนซึ่งให้การต้อนรับเธออย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก หลังจากที่เธอถูกจองจำอยู่เป็นเวลา 2 เดือนด้วยข้อหา "ฝ่าฝืนมาตรการรักษาความปลอดภัย"

รายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์ผู้นี้ กว่าจะได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน ก็ต้องหลังจากที่มีการรณรงค์เรียกร้องระดับทั่วโลกเพื่อให้ปล่อยตัวเธอ และมีการอุทธรณ์จนกระทั่งอิสราเอลยอมถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่เรื่องราวคดีของเธอ

เด็กหญิงผมดำท่าทางไม่ค่อยแข็งแรงผู้นี้ มาจากตำบลไบติน (Beitin) ใกล้ๆ เมืองรามัลเลาะห์ (Ramallah) เธอถูกจับเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และต่อมาก็ถูกตั้งข้อหาว่าขว้างก้อนหินและมีมีดเล่มหนึ่งอยู่ในครอบครอง อย่างไรก็ตาม อัล คอติบ บอกว่าสิ่งที่ถูกระบุว่าเป็นคำสารภาพของเธอนั้น มาจากการที่เธอถูกข่มขู่บังคับในระหว่างการถูกสอบสวน

อัล ตอติบ ถูกตัดสินลงโทษคุมขังเป็นเวลา 2 เดือน, ถูกลงโทษจำคุกอีก 3 เดือนแต่ให้รอลงอาญา, และยังถูกปรับเป็นเงิน 6,000 เชคเกล(1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 50,000 บาท)

ตามข้อมูลขององค์การอาสาสมัคร “มิลิทารี คอร์ต วอตช์” (Military Court Watch) เวลานี้มีเด็กชาวปาเลสไตน์ 151 คนกำลังถูกอิสราเอลกักขังทั้งในดินแดนที่ถูกยึดครอง (หมายถึงดินแดนเวสต์แบงก์ และกาซา ของปาเลสไตน์ ซึ่งถูกอิสราเอลยึดครองอยู่ –ผู้แปล) และภายในอิสราเอลเอง ด้วยข้อหา “ฝ่าฝืนมาตรการรักษาความปลอดภัย”

กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มนี้ระบุด้วยว่า ราว 47% ของเด็กเหล่านี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ที่อยู่ภายในอิสราเอล ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) เนื่องจากกลายเป็นการจำกัดความสามารถของครอบครัวและของผู้แทนทางกฎหมายจากเวสต์แบงก์และกาซา ที่จะไปเยี่ยมเยียนพวกเขา

ทางด้านกลุ่ม “ดีเฟนซ์ ฟอร์ ชิลเดรน อินเตอร์เนชั่นแนล ปาเลสไตน์ (Defence for Children International Palestine ใช้อักษรย่อว่า DCIP) ให้ข้อมูลว่า ณ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีเด็กชาวปาเลสไตน์อายุระหว่าง 10 ถึง 15 ปีถูกจองจำคุมขัง อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้วแม้กระทั่งเด็กอายุเพียงแค่ 8 ขวบก็ยังเคยถูกทหารหรือตำรวจอิสราเอลจับกุมมาแล้ว ตามรายงานของ DCIP กองกำลังของอิสราเอลจับกุมเด็กไปประมาณ 1,000 คนในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองเป็นประจำทุกปี

สิ่งที่องค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเป็นห่วง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องจำนวนของเด็กปาเลสไตน์ซึ่งถูกจับกุมไปอย่างมากมายเท่านั้น หากแต่ยังในประเด็นการปฏิบัติต่อเด็กเหล่านี้ระหว่างที่พวกเขาถูกจองจำอีกด้วย

ในปี 2013 กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ถูกนักวิจารณ์ชาวอิสราเอลโจมตีอย่างเสียๆ หายๆ หลังจากเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “เด็กในที่คุมขังของฝ่ายทหารอิสราเอล” (Children in Israeli Military Detention) เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ตำหนิพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอิสราเอลอย่างแรงว่า กำลังใช้ “การขู่กรรโชก, การคุกคาม, และความรุนแรงทางกายภาพ มาบังคับให้เด็กชาวปาเลสไตน์ต้องยอมรับสารภาพ”

“เด็กๆ เหล่านี้ถูกข่มขู่ว่าจะถูกฆ่าให้ตาย, ถูกใช้ความรุนแรงทางกายภาพ, ถูกขังเดี่ยว, และถูกทำร้ายทางเพศ ทั้งต่อตัวพวกเขาเองหรือต่อสมาชิกในครอบครัว” รายงานของยูนิเซฟระบุ

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Pres Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ได้พูดคุยกับเด็กชายชาวปาเลไสตน์ 2 คนจากค่ายผู้ลี้ภัยเจลาซอน (Jelazon refugee camp) ใกล้ๆ เมืองรามัลเลาะห์ ผู้ซึ่งถูกทุบตีและถูกล่วงละเมิดในระหว่างถูกสอบสวนและถูกจองจำด้วยข้อหาว่าขว้างก้อนหินและระเบิดขวดน้ำมัน (Molotov cocktails) เข้าใส่กองกำลังความมั่นคงอิสราเอลและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล

ทหารอิสราเอลติดอาวุธเต็มเพียบจำนวนถึง 100 คน และต่างมีผ้าปกปิดใบหน้า ได้พังประตูและบุกเข้าไปในบ้านของ คอลิล คอเลด นัคลี (Khalil Khaled Nakhli) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ในช่วงก่อนเช้ามืดของวันที่ 11 สิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความหวาดผวาแก่น้องชายน้องสาวรวม 6 คนของเขาเป็นอย่างมาก

“แขนผมหักหลังจากพวกทหารทุบตีผมขณะพวกเขาเข้ามาจับผม พวกเขากล่าวหาว่าผมเป็นคนขว้างก้อนหินใส่พวกตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลจากนิคมเบต เอล (Beit El settlement) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ค่ายเจลาซอน” นัคลี เล่าให้ IPS ฟัง

นัคลี ถูกนำตัวไปยังเรือนจำของอิสราเอลแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาถูกปฏิบัติอย่างหยาบคายระหว่างที่เจ้าหน้าที่สอบสวนเขา และในที่สุดเขาก็ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ถึงแม้เขาปฏิเสธไม่ยอมรับข้อกล่าวหาที่ใช้เล่นงานเขาก็ตามที

บ้านของ อาเหม็ด โอธมาน ซาฟี (Ahmed Othman Safi) เพื่อนของนัคลี และมีอายุ 17 ปีเท่ากัน ก็ถูกบุกจู่โจมทำนองเดียวกันในช่วงก่อนเข้ามืดของวันที่ 7 กันยายนปีที่แล้ว ในคราวนี้พวกทหารถึงกับใช้ระเบิดพังประตูบ้านเละเทะไปเลย

ซาฟีถูกทำร้ายจนเลือดนองร่างกาย และกระโหลกศีรษะของเขาถึงกับร้าวตอนที่ทหารซึ่งเข้ามาจับตัวเขาใช้พานท้ายปืนตีเขาที่ศีรษะ จนถึงตอนนี้ยังสามารถมองเห็นรอยบุ๋มยาวประมาณ 1 นิ้วซึ่งผมยังไม่ยอมขึ้นที่บริเวณกระโหลกศีรษะของซาฟี

“ผมถูกลงโทษขังคุกอยู่ 6 เดือน ถึงแม้ว่าพวกเขาล้มเหลวบังคับผมให้สารภาพอะไรไม่สำเร็จทั้งนั้น” ซาฟี กล่าว

การปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นนี้มีแต่ทำให้เด็กหนุ่มทั้งสองรู้สึกโกรธแค้นมากขึ้นเท่านั้น “พวกเราต่างรู้สึกขมขื่นต่อวิธีการที่พวกเราได้รับการปฏิบัติ และนี่ยิ่งทำให้พวกเราโกรธแค้นมากขึ้นไปอีกที่ต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้การยึดครองแบบนี้” ซาฟี กล่าวกับสำนักข่าว IPS

วิธีที่ผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์ได้รับการปฏิบัติเมื่อถูกจับกุม มีความเข้มงวดและรุนแรงกว่ามากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้เยาว์ชาวอิสราเอลได้รับอยู่

“เด็ก 2 คน คนหนึ่งเป็นคนยิว อีกคนหนึ่งเป็นคนปาเลสไตน์ ต่างถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่า ขว้างก้อนหิน แต่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันมากเหมือนกับเป็นระบบกฎหมายคนละระบบทีเดียว” สมาคม “แอสโซซิเอชั่น ฟอร์ ซิวิล ไรต์ส อิน อิสราเอล (Association for Civil Rights in Israel ใช้อักษรย่อว่า ACRI) ระบุในรายงานซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “การปกครองหนึ่งเดียว แต่ระบบกฎหมาย 2 ระบบ: ระบบกฎหมายของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์” (One Rule, Two Legal Systems: Israel's Regime of Laws in the West Bank)

“เด็กอิสราเอลจะได้รับสิทธิ์และการคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายอิสราเอลกำหนดว่าต้องให้แก่ผู้เยาว์ แต่สำหรับเด็กปาเลสไตน์จะได้รับสิทธิ์และการคุ้มครองอย่างจำกัด ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับประกันว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาจะได้รับการดูแล รวมทั้งไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการเฉพาะเจาะจงของพวกเขาในฐานะที่ยังเป็นผู้เยาว์” รายงานฉบับนั้นระบุ

ยิ่งกว่านั้น ในคดีจำนวนมากมาย กฎหมายอาญาที่ถูกนำมาใช้กับพวกผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์ จะมีความเข้มงวดรุนแรงมากกว่าที่ใช้กับเด็กชาวอิสราเอล และกระทั่งเข้มงวดรุนแรงกว่าที่ใช้กับผู้ใหญ่ชาวอิสราเอลด้วยซ้ำ

“ถ้า มาลัค อัล คอติบ เป็นเด็กอิสราเอลที่ถูกจับกุมเพราะทำกิจกรรมที่รุนแรงแล้ว เธอก็จะได้รับสิทธิ์หลายอย่างหลายประการอย่างแน่นอน โดยที่สิทธิ์เหล่านี้เธอกลับไม่ได้รับ เนื่องจากเธอเป็นเด็กชาวปาเลสไตน์” นูริ มอสโควิช (Nuri Moskovich) โฆษกของสมาคม ACRI กล่าวกับสำนักข่าว IPS

ระยะเวลาหลายสิบปีที่กองทัพอิสราเอลเข้าทำการปกครอง “ชั่วคราว” ในดินแดนที่ถูกยึดครอง ได้ทำให้เกิดระบบกฎหมายที่แบ่งแยกกันและไม่เท่าเทียมกัน 2 ระบบขึ้นมา โดยระบบหนึ่งใช้เฉพาะกับชาวอิสราเอล และอีกระบบหนึ่งใช้กับชาวปาเลสไตน์ กฎหมายที่แตกต่างกันเช่นนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเรื่องความมั่นคงหรือเรื่องอาชญากรรมเท่านั้น ทว่าแตะต้องแทบจะทุกๆ ส่วนทุกๆ มิติของชีวิตประจำวันทีเดียว

“ทั้งกฤษฎีจำนวนมากที่ออกโดยฝ่ายทหาร, ระเบียบข้อบังคับที่มีผลทางกฎหมาย, ตลอดจนข้อยกเว้นทางด้านนิติบัญญัติ ได้ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ซึ่งพลเมืองชาวอิสราเอลที่พำนักอาศัยอยู่ในดินแดนยึดครอง จะยังคงอยู่ใต้อำนาจยุติธรรมของกฎหมายอิสราเอลและระบบศาลอิสราเอล และได้รับประโยชน์ทุกอย่างที่กฎหมายและระบบศาลดังกล่าวนี้เอื้ออำนวยให้” สมาคม ACRI แจกแจง

“แต่ตรงกันข้าม ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ กลับถูกบังคับด้วยระเบียบคำสั่งทางกฎหมายทหารอันเข้มงวดรุนแรง เป็นคำสั่งทางทหารซึ่งพวกนายพลอิสราเอลประกาศออกมาตั้งแต่ปี 1967”

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น