รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำหนดนโยบายใหม่ที่จะควบคุมการส่งออกอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ทั้งในเชิงพาณิชย์และการทหาร รวมไปถึง “โดรนติดอาวุธ” เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) โดยจะประสานความร่วมมือกับชาติอื่นๆ เพื่อสร้างมาตรฐานสากลในการใช้งานระบบอาวุธซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า วอชิงตันจะอนุญาตส่งออกโดรนเพื่อการทหารภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด โดยจะจำหน่ายผ่านโครงการของรัฐบาลเท่านั้น และประเทศที่สั่งซื้อก็จะต้องทำข้อตกลงยอมรับ “วัตถุประสงค์ในการใช้งานขั้นสูงสุด”
สหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายขึ้นหลังจากที่ใช้เวลาทบทวนถึง 2 ปี ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประเทศพันธมิตรที่ต้องการสั่งซื้ออาวุธสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธ ทั้งในอัฟกานิสถาน, อิรัก และเยเมน
นโยบายของวอชิงตันยังอาจช่วยให้ผู้ผลิตอาวุธสัญชาติอเมริกันจำหน่ายโดรนทางทหารและเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้นด้วย
หลายปีที่ผ่านมา เจเนอรัล อะตอมมิกส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรนรุ่น “พรีเดเตอร์” และ “รีปเปอร์” รวมถึง นอร์ทร็อป กรัมแมน คอร์ป, เท็กซ์ตรอน อิงก์ และผู้ผลิตอาวุธรายอื่นๆ ต่างเรียกร้องให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายกฎการส่งออกโดรนซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้พลาดสัญญาสั่งซื้อจากลูกค้า เช่น อิสราเอล และอีกหลายประเทศ
เมื่อวันอาทิตย์ (15) ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) เพิ่งเสนอให้รัฐบาลลดข้อจำกัดในการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ แต่ยังคงจำกัดการใช้ในกิจกรรมอื่นๆ เช่น การตรวจสอบท่อส่งก๊าซ เป็นต้น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่า นโยบายใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้มิตรประเทศที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกาสามารถสั่งซื้อโดรนทางทหารได้ง่ายขึ้น โดยที่สหรัฐฯ ยังสามารถควบคุมเทคโนโลยีในภาพรวมไว้ได้
ปัจจุบัน อังกฤษเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีโดรนติดอาวุธของสหรัฐฯ ไว้ใช้งาน ในขณะที่ฝรั่งเศส และอิตาลี มีเพียง “รีปเปอร์” ซึ่งเป็นโดรนสอดแนม
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า หลังจากที่มีนโยบายใหม่ออกมา สหรัฐฯอาจนำคำขอสั่งซื้อโดรนติดอาวุธของอิตาลีและตุรกีกลับมาพิจารณาใหม่
สภาคองเกรสอยู่ระหว่างพิจารณาแผนจำหน่ายโดรน “พรีเดเตอร์” ให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพียงการจำหน่ายโดรนสอดแนมก็อาจช่วยเหลือชาติพันธมิตรของอเมริกาในการต่อสู้กลุ่มไอเอสได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะยังคงนโยบาย “ปฏิเสธ” การจำหน่ายโดรนขนาดใหญ่ประเภทที่ 1 (Category I) ซึ่งมีพิสัยเดินทางอย่างน้อย 300 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกน้ำหนักขั้นต่ำ 500 กิโลกรัม แต่อาจยอมจำหน่ายโดรนลักษณะนี้ “ในบางกรณีที่หาได้ยาก”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันไม่ได้กำหนดรายชื่อประเทศที่สามารถส่งออกโดรนติดอาวุธให้ได้ แต่จะพิจารณาคำร้องเป็นกรณีๆ ไป โดยคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สมดุลอำนาจในภูมิภาค และปัจจัยอื่นๆ