รอยเตอร์ - ตำรวจสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (11 ก.พ.) เผยผลสอบสวนเบื้องต้นพบ เหตุมือปืนที่โพสต์ข้อความต่อต้านศาสนาบนสื่อสังคมออนไลน์และสังหารนักศึกษามุสลิม 3 คนใกล้มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา มีต้นตอจากการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องที่จอดรถและไม่ได้มีแรงจูงใจด้านความเกลียดชังทางศาสนาตามที่กังวล
เครก สตีเฟน ฮิกส์ อายุ 46 ปี ถูกจับกุมพร้อมตั้งข้อหารฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน หลังลงมือสังหารชาวมุสลิม 3 คน ที่เมืองแชเปิลฮิลล์ มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยเวลานี้เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเดอร์แฮม เคาน์ตี
เหล่านักเคลื่อนไหวมุสลิมเรียกร้องเจ้าหน้าที่สืบสวนนายฮิกส์ ในความเป็นไปได้ของการลงมือก่ออาชญากรรมด้วยความเกลียดชังต่อนักศึกษา 3 คนที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อช่วงค่ำวันอังคาร (10 ก.พ.)
อย่างไรก็ตาม ตำรวจระบุในถ้อยแถลงว่า “ผลการสืบสวนเบื้องต้นของเราบ่งชี้ว่าอาชญากรรมนี้มีแรงจูงใจจากเหตุทะเลาะเบาะแว้งกันมานานระหว่างเพื่อนบ้านเกี่ยวกับที่จอดรถ ฮิกส์ให้ความมือกับเจ้าหน้าที่สืบสวน และบางทีอาจมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง”
ด้าน คริส บลู ผู้บัญชาการตำรวจแชเปิลฮิลล์ กล่าวในคำแถลงว่า “เราตระหนักถึงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาชญากรรมนี้อาจเกี่ยวข้องกับความเกลียดชัง และเราจะทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่เพื่อสรุปว่ามันเป็นกรณีนั้นหรือไม่”
รูปโปรไฟล์บนเฟซบุ๊กของฮิกส์เป็นข้อความ “อเทวนิยมเพื่อความเท่าเทียม” และจากนั้นก็โพต์คำอ้างอิงสำคัญๆ ของศาสนา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม เขาโพสต์ภาพปืนลูกโม่ .38 บรรจุกระสุนและบอกว่ามันเป็นของเขาเอง
ผู้เสียชีวิตประกอบด้วย ดีอาห์ แชดดี บารากัต อายุ 23 ปี กับภรรยาของเขา, ยูซอร์ โมฮัมหมัด อายุ 21 ปี ส่วนอีกรายเป็นน้องสาวของฝ่ายหญิง มีชื่อว่า ราซาน โมฮัมหมัด อาบู-ซัลฮา อายุ 19 ปี
บารากัต เป็นนักศึกษาปีที่ 2 สาขาวิชาทันตกรรมของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา โดยเขาและยูเซอร์เพิ่งแต่งงานกันไม่นาน และฝ่ายหญิงมีแผนจะลงเรียนสาขาเดียวกันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนราซาน อาบู-ซัลฮา เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตรท ที่อยู่ใกล้ๆ กัน
โฆษกสภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลามิก (ซีเอไออาร์) บอกกับรอยเตอร์ว่าเหยื่อทั้ง 3 คนเป็นมุสลิม “จากลักษณะอันเหี้ยมโหดของคดีอาชญากรรมนี้ ประกอบกับข้อความต่อต้านศาสนาที่ผู้ก่อเหตุโพสต์ เครื่องแต่งกายทางศาสนาของเหยื่อ 2 ใน 3 คน และโวหารต่อต้านมุสลิมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมอเมริกัน เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจากทั้งของรัฐและรัฐบาลกลาง จัดการกับข่าวลือที่ว่าคดีนี้อาจมีแรงจูงใจจากความมีอคติ”
คดีฆาตกรรมนี้กระพือให้เกิดการติดแฮชแท็ก #MuslimLivesMatter บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเหล่าผู้โพสนต์ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่าบางทีศรัทธาของเหล่านักศึกษาทั้ง 3 คนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้