เอเอฟพี - ความรู้สึกเกลียดชังตะวันตกในหมู่ชาวแดนหมีขาวพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย โดยส่วนใหญ่ยอมรับว่าพวกเขามีทัศนคติเชิงลบต่อสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ผลสำรวจเผยวานนี้ (9 ก.พ.)
ผลวิจัยโดยสถาบันเลวาดา (Levada) ซึ่งได้รับความเชื่อถือ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอเมริกาที่ไม่สู้ดีนักนับตั้งแต่ วลาดิมีร์ ปูติน ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ดูเหมือนจะเข้าขั้นวิกฤตหลังเกิดความขัดแย้งขึ้นในยูเครนเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว
“ตั้งแต่เริ่มทำสำรวจมา เราไม่เคยพบว่าชาวรัสเซียรู้สึกโกรธเคืองตะวันตกมากเช่นนี้มาก่อน” เลฟ กุดคอฟ ผู้อำนวยการสถาบันเลวาดา เปิดเผยต่อเอเอฟพี
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 81 แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วที่มีผู้ตอบเช่นนี้เพียงร้อยละ 44
ชาวรัสเซียที่เห็นว่ามอสโกกับวอชิงตันเป็น “ศัตรู” เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จากร้อยละ 4 ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว เพิ่มเป็นร้อยละ 42 ในเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา
ผลสำรวจยังพบว่า ความสัมพันธ์อันดีที่รัสเซียเคยมีกับอียูมาแต่เดิมถูกบั่นทอนไปไม่น้อย โดยชาวรัสเซียร้อยละ 71 แสดงทัศนคติเชิงลบต่ออียู หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ร้อยละ 24 เห็นว่าความสัมพันธ์กับอียูเข้าข่ายเป็น “ศัตรู” ทั้งที่เมื่อต้นปี 2014 มีผู้คิดเช่นนี้เพียงร้อยละ 1 ส่วนอีกร้อยละ 41 ยอมรับว่าความสัมพันธ์กับอียู “ตึงเครียด” เพิ่มจากร้อยละ 9 เมื่อปีที่แล้ว
ชาวรัสเซียเกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่าเพื่อนบ้านอย่างยูเครนกลายเป็นคู่อริ เพิ่มขึ้นจากสถิติร้อยละ 2 เมื่อปีก่อน
กุดคอฟอธิบายว่า กระแสเกลียดชังชาวอเมริกันและยุโรปที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มีต้นเหตุมาจาก “โฆษณาชวนเชื่อ” ที่มอสโกประโคมผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ
“อะไรจะเกิดขึ้นอีกก็ต้องขึ้นอยู่กับสื่อโทรทัศน์” เขาบอก
“ถ้าไม่เกิดการเผชิญหน้ารุนแรงกว่านี้ และหากรัสเซียไม่ถึงขั้นเปิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน กระแสต่อต้านตะวันตกก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง”
มาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกและวิกฤตราคาน้ำมันโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงกว่าครึ่ง
ชาวรัสเซียส่วนใหญ่โทษว่าสหรัฐฯ เป็นต้นเหตุของหายนะที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ และไม่เข้าใจว่าเหตุใดประเทศที่อยู่ไกลคนละฝั่งทวีปจึงเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของยูเครนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของรัสเซีย