เอเอฟพี - ภาพร่างหน้าปกการ์ตูน “การผจญภัยของตินติน” ตอน “ตามล่าอุกกาบาต” (The Shooting Star) สามารถกวาดรายได้ 2.5 ล้านยูโร (ราว 92 ล้านบาท) แทบจะทุบสถิติเก่าที่ผลงานของ “แอร์เช” นักเขียนการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวนชาวเบลเยียมเคยทำไว้ ตัวแทนค้างานศิลปะระบุวานนี้ (2 ก.พ.)
มารีนา เดวิด จากเปอตีต์ ปาปิเยร์-อูแบร์ตี-เบรน แกลอรีที่รับเป็นตัวแทนซื้อขายหนังสือการ์ตูนโดยเฉพาะ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ภาพสเกตช์เก่าแก่ของแอร์เช ที่เริ่มกลายเป็นสีเหลืองเพราะเป็นผลงานเก่าแก่ตั้งแต่ปี 1942 นั้น บัดนี้ได้ตกไปอยู่ในมือของนักลงทุนชาวยุโรปคนหนึ่งแล้ว
เดวิดปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับตัวผู้ซื้อมากไปกว่านี้ โดยเธอระบุเพียงว่า “คนซื้อไม่ใช่ชาวเบลเยียม และไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส” โดยการขายภาพหน้าปกครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า งานศิลปะภาพการ์ตูนนั้นกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดมากเพียงใด
ในส่วนของภาพหน้าปกฉบับสีสมบูรณ์นั้นเผยให้เห็น ตินติน และสโนวี สุนัขผู้ซื่อสัตย์ของเขาจ้องมองเห็ดยักษ์สีขาวลายจุดสีแดงผุดขึ้นบนชายหาดที่เต็มไปด้วยโขดหิน ซึ่งเป็นเศษชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ตกลงสู่ท้องทะเล ตามชื่อเรื่อง
ราคา 2.5 ล้านยูโร นั้นถือเป็นหนึ่งในราคาสูงสุดที่ผลงานศิลปะของแอร์เช ทำไว้ได้ ภายหลังก่อนหน้านี้อัลบั้มภาพตินตินของเขาสามารถทำเงินได้ราว 230 ล้านยูโร (ราว 8.468 พันล้านบาท) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปี 1983
นับแต่นั้นมา บรรดานักลงทุนและนักสะสมก็เริ่มหันมามองจับมองจ้องการ์ตูนกันอย่างจริงจัง ในฐานะผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าในตัวของมันเอง
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ภาพตินตินหลบหนีเหล่าร้ายไปตามเส้นทางอันน่าหวาดเสียวบนกระดาษขนาด 2 หน้าได้ถูกซื้อไปในราคา 2.65 ล้านยูโร (ราว 97 ล้านบาท) ที่กรุงปารีส ในยามที่สถิติภาพการ์ตูนที่แพงที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่ 3.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 116 ล้านบาท)
เมื่อเดือนมิถุนายน หนังสือการ์ตูนซูเปอร์แมนที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ไร้ที่ติ ทั้งที่เป็นของเก่าแก่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1938 นั้นสามารถทำเงินได้ 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 104 ล้านบาท) ทั้งนี้ตามเว็บไซต์ประมูลออนไลน์อีเบย์
การผจญภัยของตินตินตอน “ตามล่าอุกกาบาต” นั้นเป็นอัลบั้มที่ 10 ของแอร์เช นับตั้งแต่เขาเริ่มต้นเขียนการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องนี้เมื่อปี 1930 โดยใช้ชื่อตอนแรกว่า “ตินตินในแผ่นดินโซเวียต” (Tintin in the Land of Soviets)
เดวิดเล่าว่า นอกเหนือจากหน้าปกการ์ตูนตินตินแล้ว ยังมีลูกค้ามากว้านซื้อผลงานของดีไซเนอร์ชาวเบลเยียม ฟิลิป เจอลัค ผู้อยู่เบื้องหลังการ์ตูนเรื่องยาว “เลอ ชาท์” (แมว) ไปจากแกลอรีราว 60 ชิ้น ในขณะที่ผลงานของ ฟรองซัวส์ อาวริล และโดมินิก กอร์บาสซง ซึ่งนำเสนอภาพวาดออกมาในรูปของหนังสือการ์ตูนก็ทำราคางามเช่นกัน
ทั้งนี้ หน้าปกตินตินตอน “ตามล่าอุกกาบาต” นั้นเคยเป็นสมบัติของนักสะสมคนหนึ่ง