รอยเตอร์ - เงิน “หยวน” ของจีนติดอันดับสกุลเงินตราที่ถูกใช้เพื่อการชำระหนี้ต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมข้ามประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2014 สมาคมสื่อสารการเงินระหว่างธนาคารนานาชาติ (SWIFT) ประกาศวันนี้ (28 ม.ค.)
รัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะของจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก แต่ขณะเดียวกัน ปักกิ่งก็ยังมีนโยบายควบคุมค่าเงินอย่างเข้มงวด
หยวน หรือ “เหรินหมินปี้” (RMB) ขยับแซงดอลลาร์แคนาดาและดอลลาร์ออสเตรเลียขึ้นมาอยู่ใน Top 5 ของสกุลเงินที่มีการใช้ชำระหนี้แพร่หลายที่สุดในโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยไต่สูงขึ้นถึง 8 อันดับในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี จากที่เคยอยู่อันดับ 13 ของโลก เมื่อเดือนมกราคม ปี 2013
SWIFT แถลงว่า สัดส่วนการชำระหนี้ด้วยเงินหยวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.17 ในเดือนธันวาคม และมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.69
โดยภาพรวมแล้ว การชำระหนี้ต่างประเทศผ่านสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นถึง 102 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าพุ่งแรงที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของสกุลเงินอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 4.4 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับทำนายว่า เงินหยวนจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวทีการเงินโลกได้ในอีกไม่ช้า
“นี่คือบทพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยมในความเป็นสากลของเหรินหมินปี้ และยืนยันว่าเงินหยวนกำลังจะเปลี่ยนจากการเป็นสกุลเงินที่เริ่มเติบโต (emerging) ไปสู่การเป็นสกุลเงินเพื่อการชำระหนี้ทางธุรกิจตามปกติ (business as usual)” วิม เรย์แมเกอร์ส หัวหน้าแผนกตลาดธนาคารของ SWIFT ระบุในถ้อยแถลง
ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ต่างประเทศมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.64 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนอันดับสองได้แก่ ยูโร (ร้อยละ 28) และปอนด์สเตอร์ลิง (ร้อยละ 7.92)
รัฐบาลจีนได้จัดทำระบบหักบัญชีผ่านสกุลเงินหยวนใน 10 ประเทศและภูมิภาค และยังมีข้อตกลงสว็อปเงินตราต่างประเทศกับธนาคารกลางอีก 28 แห่ง
สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า จะเริ่มประกาศตัวเลขการลงทุนทั้งขาเข้าและขาออกเป็นสกุลเงินหยวนเท่านั้น และยกเลิกการแจ้งสถิติด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทางกระทรวงฯ ยอมรับว่านโยบายนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของจีนที่จะส่งเสริมบทบาทของเงินหยวนในเวทีการเงินโลก