รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เดินทางถึงยังซาอุดีอาระเบียเมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน กษัตริย์พระองค์ใหม่ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างวอชิงตันและริยาดซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่องผลประโยชน์ด้านน้ำมันไปจนถึงความมั่นคงในภูมิภาคอ่าวอาหรับ
ผู้นำสหรัฐฯ ถือเป็น “แขกบ้านแขกเมือง” ระดับสูงสุดคนแรกที่ไปเยือนซาอุฯ หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (23) โดยสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดาของกษัตริย์พระองค์ก่อนได้ทรงพูดคุยกับ โอบามา อย่างเปิดใจเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีเจรจากับอิหร่านเพื่อยับยั้งโครงการนิวเคลียร์
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้เปิดเผยว่า พระราชดำรัสของกษัตริย์ซัลมานในเรื่องนี้บ่งบอกถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ใดๆ หรือไม่
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมสุหนี่เบอร์หนึ่งในตะวันออกกลาง หวาดหวั่นมาโดยตลอดว่าการเจรจานิวเคลียร์อาจทำให้วอชิงตันกลายเป็นมิตรกับชีอะห์อิหร่าน ซึ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของริยาด
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน หลังจากที่โอบามาได้เข้าเฝ้าฯ และรับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวังเออร์กาในกรุงริยาดว่า กษัตริย์ซัลมานทรงยืนยันว่า อิหร่านจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จไม่ได้เป็นอันขาด
การบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านจะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลโอบามา ที่จะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2017
ผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจลดทอนภารกิจในอินเดีย และงดเยือนอนุสรณ์สถานแห่งความรัก “ทัชมาฮาล” เพื่อบินต่อมายังกรุงริยาด โดยมี จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบันไปช่วยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีที่สหรัฐฯและซาอุดีอาระเบียมีให้กันมาอย่างยาวนาน
เจ้าหน้าที่อเมริกันเปิดเผยว่า ท่าทีของกษัตริย์ซาอุฯ บ่งชี้ว่าริยาดคงจะยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงาน โดยผู้นำทั้งสองได้สนทนาเกี่ยวกับเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงนี้
“พระองค์เพียงแต่ทรงเสนอแนะว่า ทั้งสองประเทศควรรักษาบทบาทของตนเองในตลาดพลังงานโลกอย่างที่เคยทำมา และอย่าเพิ่งคาดเดาว่าซาอุดีอาระเบียจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนใดๆ”
ปลายปีที่แล้ว ซาอุดีอาระเบียสร้างความตกตะลึงด้วยการประกาศไม่ลดกำลังผลิตแม้ราคาน้ำมันร่วงหนัก โดยเลือกที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดและสู้กับผู้ผลิตน้ำมันในภูมิภาคอเมริกาเหนือให้ถึงที่สุด มากกว่าที่จะยอมลดอุปทานเพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
บทบาทของซาอุฯ ในการเชิญชวนชาติอาหรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ทำให้ริยาดกลายเป็นพันธมิตรและตลาดอาวุธที่สำคัญในสายตาของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ แทบจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบีย และในการเยือนครั้งนี้ดูเหมือน โอบามา ก็จะยังคงรักษาจุดยืน “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เหมือนเดิม
เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่า โอบามาเพียงแต่เอ่ยถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างๆ โดยไม่พูดถึงกรณีใดเป็นการเฉพาะ
มิตรภาพกับซาอุดีอาระเบียถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายที่สหรัฐฯมีต่อตะวันออกกลางมาช้านาน แต่รัฐบาลซาอุฯ ก็ไม่สบอารมณ์นักที่โอบามาไม่ใช้ความพยายามอย่างจริงจังในการกดดันให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียหลุดจากอำนาจ และยังทำทีว่าจะสานสัมพันธ์ที่อบอุ่นยิ่งขึ้นกับอิหร่านด้วย