xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่ต่อต้านก่อการร้าย ตามหลังเหตุโจมตีปารีส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลส์ แถลงทุ่มงบประมาณ 700 ล้านยูโร ที่จะใช้จ่ายช่วง 3 ปีข้างหน้าสำหรับต่อสู้กับก่อการร้าย
เอเอฟพี - ฝรั่งเศสเมื่อวันพุธ (21 ม.ค.) เปิดตัวมาตรการต่างๆนานาสำหรับยับยั้งแนวคิดสุดโต่งและจับตาพวกนักรบญิฮัดได้ดีกว่าเดิม 2 สัปดาห์หลังพวกอิสลามิสต์ก่อเหตุโจมตีปารีส ที่กระพือคลื่นความช็อกไปทั่วยุโรป

ความหวาดผวาจากเหตุโจมตีในแผ่นดินฝรั่งเศสครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษได้แผ่ลามไปยังเหล่าชาติเพื่อนบ้านและคาดหมายว่าทางสหภาพยุโรปเองกจะเปิดตัวมาตรการต่อต้านก่อการร้ายใหม่ในวันพุธ (21 ม.ค.)เช่นกัน

ในปารีส นายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลส์ แถลงทุ่มงบประมาณ 700 ล้านยูโร ที่จะใช้จ่ายช่วง 3 ปีข้างหน้าสำหรับต่อสู้กับก่อการร้าย ตามหลังเหตุโจมตีเมืองหลวง 2 ครั้งในเวลาห่างกันไม่กี่วัน ในวันที่ 7 และ 9 มกราคมที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไป 17 ศพ

การโจมตีของพวกอิสลามิสต์ที่รู้จักกันดีเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอด้านข่าวกรองของฝรั่งเศส และวาลส์ บอกว่าจำเป็นต้องจับตาบุคคลที่พัวพันกับพวกญิฮัดราว 3,000 คน ขณะที่เฉพาะเมื่อปีที่แล้วปีเดียว พบว่ามีบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกับเครือข่ายก่อการร้ายต่างๆ ในซีเรียและอิรัก เพิ่มขึ้นถึง 130 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ฝรั่งเศสจึงจะเพิ่มตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงอีก 2,680 ตำแหน่ง โดยราวๆครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นตำแหน่งงานด้านข่าวกรอง “เป้าหมายแรกและสิ่งจำเป็นเร่งด่วนแรกคือเสริมกำลังทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและทางเทคนิคแก่เหล่าหน่วยข่าวกรอง” วาลส์กล่าว พร้อมระบุว่่าจะมีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคม

ความพยายามส่วนใหญ่ในการสู้รบกับพวกหัวรุนแรงคือการต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่ง และวาลส์แถลงว่าจะมีการจ้างอนุศาสนาจารย์มุสลิมประจำเรือนจำต่างๆเพิ่มเติมอีก 60 คน จากเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว 182 คน หลังเชื่อกันว่ามือปืนโจมตีปารีส 2 คน นายอเมดี คูลิบาลีและเชรีฟ คูอาชี เปลี่ยนไปเป็นอิสลามหัวรุนแรงระหว่างเจอกันในทัณฑสถาน ขณะที่นายกรัฐมนตรีเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเหล่านักโทษที่มีความเชื่อมโยงกับอิสลามหัวรุนแรงจะถูกขังเดี่ยวในเรือนจำและตอนนี้มีคุก 1 แห่งใกล้ปารีสได้ใช้วิธีดังกล่าวแล้ว

นอจากนี้แล้วทางการจะเพิ่มความเข้มข้นในการต่อสู้กับพวกญิฮัดทางไซเบอร์ นากรัฐมนตรีฝรั่งเศสเผยต่อ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

ด้านประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ เผยในวันพุธ (21 ม.ค.) ว่าฝรั่งเศสจะปรับลดตำแหน่งงานด้านการทหารน้อยกว่าแผนเดิม 7,500 อัตรา อันเนื่องมาจากเหตุโจมตีกรุงปารีส หลังจากเบื้องต้นรัฐบาลมีแผนปรับลดกำลังพลราว 26,000 อัตรา ระหว่างปี 2015 ถึง 2019

เหตุโจมตีฝรั่งเศสครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 7 มกราคม เมื่อนายชารีฟและนายซาอิด สองพี่น้องตระกูลคูอาชี บุกเข้าไปสังหารหมู่ 12 ศพที่สำนักงานนิตยสารรายสัปดาห์แนวเสียดสี “ชาร์ลี เอ็บโด” จากนั้นในวันต่อมานายคูลิบาลี ก็ยิงตำรวจหญิงรายหนึ่งเสียชีวิต และถัดมาแค่วันเดียว เขาก็สังหารประชาชนอีก 4 คน ในปฏิบัติการบุกจับตัวประกันในซูเปอร์มาร์เกตชาวยิว ก่อนทั้ง 3 คนจะถูกตำรวจจู่โจมวิสามัญฆาตกรรม

ฟรังซัวส์ โมลินส์ อัยการปารีส เผยในวันพุธ (21 ม.ค.) ชาย 4 คนที่เชื่อว่าให้ความช่วยเหลือนายคูลิบาลี ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดกระทำการก่อร้ายร้าย โดยหนึ่งในนั้นถูกดำเนินคดีฐานครอบครองและส่งมอบอาวุธ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสืบสวนคดีสองพี่น้องคูอาชี มีความคืบหน้าแค่เล็กน้อยและอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี

การโจมตีดังกล่าวบีบให้ฝรั่งเศสต้องยอมรับความล้มเหลวในการผสมผสานครอบครัวคนอพยพที่ยากจน โดยนายวาลส์บอกเมื่อวันอังคาร (20 ม.ค.) ว่าประเทศของเขากำลังเผชิญกับการแบ่งแยกทางสังคมและเชื้อชาติ

เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษามีกำหนดแถลงในวันพุธ (21 ม.ค.) ถึงแผนต่างๆ ในการส่งเสริมจิตวิญญาณพลเรือนและความเคารพต่อฆราวาสนิยมตามโรงเรียนต่างๆ หลังเกิดกรณีเด็กนักเรียนปฏิเสธเชิดชูเหยื่อโจมตีและแสดงความสนับสนุนพวกญิฮัดหลายต่อหลายเหตุการณ์

เหตุโจมตีในฝรั่งเศส ยังก่อความเคลื่อนไหวอย่างโกลาหลของตำรวจทั่วยุโรป ด้วยมีการจู่โจมเหล่าผู้ต้องสงสัยเครือข่ายอิสลามิสต์ทั้งในเบลเยียมและเยอรมนี ส่วนกรีซก็มีคำสั่งส่งตัวชายแอลจีเรียที่ต้องสงสัยมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายญิฮัด ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังเบลเยียม ด้านบัลแกเรีย ศาลอนุมัติส่งตัวชายชาวฝรั่งเศส ซึ่งรู้จักกับเมือโจมตีปารีส กลับสู่มาตุภูมิ

ในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม คณะกรรมาธิการยุโรปจะพบกันในวันพุธ (21 ม.ค.) เพื่อหารือถึงยุทธศาสตร์ต่อต้านก่อการร้ายใหม่ของกลุ่ม ในนั้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบวีซ่าเชงเก้น ที่ผู้ถือสามารถเดินทางได้อย่างอิสระระหว่างประเทศในกลุ่ม และความร่วมมือด้านข่าวกรอง

หลายประเทศของอียู ผลักดันให้มีระบบฐานข้อมูลรายละเอียดของนักเดินทางทางอากาศในรูปแบบเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยแกะรอยผู้ต้องสงสัยอิสลามิสต์ ทว่ามันถูกขัดขวางจากรัฐสภายุโรปมานาน ด้วยอ้างว่าแนวคิดนี้จะละเมิดเสรีภาพพลเรือน


กำลังโหลดความคิดเห็น