เอเจนซีส์ - ล่าสุดหลังจากหลังจากมีการพบหางของเครื่องบินแอร์เอเชีย 8501ในวันนี้(7) คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอินโดนีเซีย หรือ KPK ประกาศพร้อมเริ่มต้นสอบทุจริตหามูลเหตุคนอนุญาตเที่ยวบินมรณะขึ้นบินในวันอาทิตย์(28 ธค.) หลังจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องถูกสั่งพักงานไปแล้ว 7 คน แต่ทว่าก่อนหน้านั้น วิสนู ดาร์โจโน ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยแอร์เนฟ ซึ่งให้บริการด้านการบอกทิศทางกับเที่ยวบินของอินโดนีเซียปฎิเสธว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดรับสินบนเพื่อแลกกับการอนุญาตให้ 8501 ขึ้นบิน โดยอ้างว่า “หน้าผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านั้นซื่อเกินกว่าจะสามารถมีเงินเป็นจำนวนมากได้”
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานวันนี้(7) ถึงความคืบหน้าในเหตุเครื่องบินแอร์เอเชีย 8501 ตก โดยล่าสุดคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอินโดนีเซีย หรือ KPK ประกาศในวันอังคาร(6) เสนอความช่วยเหลือกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียในการสอบสวนว่าเหตุที่เที่ยวบิน 8501 สามารถขึ้นบินได้นั้นมีเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียคนใดทุจริตรับสินบนบ้าง บัมบัง วิดโจจันโต( Bambang Widjojanto) ผู้ช่วยประธานKPK ให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้วิดโจจันโตกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานจะเริ่มประสานงานกับกระทรวงคมนาคมอิเหนาเพื่อสอบสวนว่า บ.แอร์เอเชียใช้ช่องทางด่วนเพื่อขอรับใบอนุญาตในการขึ้นบินจากสนามบินซูราบายาหรือไม่ในวันเกิดเหตุ
นอกจากนี้ KPKยังแถลงว่า ทางหน่วยงานได้สนับสนุนให้กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียทำการยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอินโดนีเซียในการสอบสวนเอาผิด ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อค้นหาว่ามีกระบวนการจ่ายใต้โต๊ะในการออกใบอนุญาตหรือไม่
“ทาง KPK จะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย เพื่อต้องการสืบทราบถึงข้อข้องใจในใบอนุญาตขึ้นบินของบ.แอร์เอเชีย เพราะทางเราต้องการทราบมูลเหตุว่าเกิดจากการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพหรือเป็นเพราะคอรัปชันมาเกี่ยวข้อง
และสื่อสิงคโปร์รายงานเพิ่มเติมว่า หาก KPKกระโดดเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มตัวก็เท่ากับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบินอิเหนาที่โดนทะลายคอรัปชัน รูธ ฮานนา ซิมาตูปัง(Ruth Hanna Simatupang ) อดีตผู้ตรวจสอบของคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางอากาศอินโดนีเซีย (KNKT) ให้ความเห็น และเสริมว่า “ซึ่งการออกใบอนุญาตการบินถือเป็นหนึ่งในปัญหาในระบบการบินอินโดนีเซีย นอกเหนือจากปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่ต้องการได้รับการแก้ไข”
ในขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียและสำนักงานด้านควมปลอดภัยแอร์เนฟอินโดนีเซียได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า 3 คนที่เกี่ยวพันกับการที่เที่ยวบิน 8501 สามารถขึ้นบินในวันเกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต อิกนาเตียส โจแนน รัฐมนตรีคมนาคมของอินโดนีเซีย แถลงเมื่อวานนี้(6)ว่า ทางกระทรวงได้สั่งพักงานหัวหน้ารักษาความปลอดภัยและการสมควรเดินอากาศ (safety and air-worthiness) ประจำสนามบินนานาชาติจวนด้า เมืองซูราบายา และบุคคลนี้ยังเป็นผู้ควบคุมทำงานการจัดสรรเวลาประจำท่าอากาศยานอีกด้วย
ในขณะที่บัมบัง ทีจาห์โจโน (Bambang Tjahjono) ประธานอำนวยการด้านความปลอดภัยแอร์เนฟ เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานได้ทำตามคำขอของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียที่ต้องการให้พักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุแอร์เอเชีย 8501 ด้วยการสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คนออกจากตำแหน่ง “การสั่งปลดครั้งนี้ไม่ใช่เหตุที่เราทราบถึงการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ แต่ทำเพื่อประโยชน์สำหรับการสอบสวน” บัมบังกล่าว และอดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานสังกัดกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียให้ความเห็นเสริมว่า “หากในภายหลังทราบว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีความผิดทางแอร์เนฟจะคืนตำแหน่งให้กลับคืน
แต่ทว่าก่อนหน้านั้น วิสนู ดาร์โจโน (Wisnu Darjono ) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยแอร์เนฟให้สัมภาษณ์ถึงผู้ใต้บังคับบัญชาว่า “พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ เพราะดูจากหน้าตาที่ซื่อแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนเหล่านั้นจะมีเงินมากมายได้ แน่นอนที่สุดต้องไม่มีเงินก้อนโตมาเกี่ยวข้อง เพราะหากมีจริงทางเราต้องดำเนินการเอาผิด” ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความเห็นของ ตริโกลา ฮาร์ดโจ (Trikora Hardjo )ผู้จัดการทั่วไปของPT Angkasa Pura I (AP I) บริษัทบริหารท่าอากาศยานนานาชาติจวนด้าว่า “จะขอพิสูจน์ว่าท่าอากาศยานนานาชาติจวนด้าไม่ได้รับสินบนแม้แต่ 1%” และกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อว่า “ผมรู้สึกเศร้ามากเมื่อลูกๆถามว่า พ่อครับ ได้เงินสินบนจำนวนมากเท่าใด”
ทั้งนี้ PT Angkasa Pura I (AP I) บริษัทบริหารท่าอากาศยานนานาชาติจวนด้าได้สั่งปลดผู้จัดการสนามบิน รวมไปถึงผู้ดูแลการขึ้นลงลานจอดเครื่องบินหลังจากได้รับคำสั่งจากทางกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียในวันจันทร์(5)
ซึ่งรวมสรุปแล้ว มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 7 คน รวมจากของแอร์เนฟ 3 คนถูกสั่งพักงานในขณะนี้
และเจ้ากระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียได้กล่าวเพิ่มเติมถึงคดีความว่า ทางกระทรวงคมนาคมจะร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียแผนกสืบสวนอาชญากรรมในการสืบสวนถึง ใบอนุญาตการบินของแอร์เอเชียเที่ยวบิน 8501 และนอกจากนี้ทางกระทรวงคมนาคมจะร่วมมือกับ KPKให้เริ่มทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม เพื่อหาว่าคนเหล่านั้นมีการคอรัปชันมาข้องเกี่ยวหรือไม่