เอเอฟพี – องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลื่อนการเจรจาสันติภาพระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ซึ่งกำลังสู้รบกันในลิเบียออกไปโดยไม่มีการประกาศวันใหม่ จากที่ก่อนหน้าเคยมีกำหนดการที่จะจัดในวันนี้ (5)
การเจรจานี้แต่เดิมถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม แต่ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้งเพราะการสู้รบที่รุนแรงมากขึ้นระหว่างรัฐบาลซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติและกลุ่มติดอาวุธที่มีพวกอิสลามิสต์หนุนหลัง
ซามีร์ กัตตาส์ โฆษกภารกิจยูเอ็น บอกกับสื่อลิเบียเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (4) ว่า ในขณะนี้ยังคงมีความพยายามที่จะนำการเจรจาดังกล่าวกับสู่กระบวนการ
หลังจากที่ โมฮัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการถูกโค่นล้มและสังหารในการปฏิวัติที่นำโดยนาโตผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี ประเทศแห่งนี้ยังคงถูกครอบงำโดยกลุ่มติดอาวุธทรงอิทธิพลกลุ่มต่างๆ และมีรัฐบาลและรัฐสภาต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน
เบอร์นาดิโอ ลีออน ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในลิเบียเคยเป็นประธานในการเจรจารอบแรกระหว่างสมาชิกสภานิติบัญญัติคู่ขัดแย้งต่างๆ ในเมืองกาดาเมส เมื่อเดือนกันยายน
ทว่าความพยายามของเขาที่จะนัดเจรจารอบแรกและที่จะเป็นคนกลางในการเจรจาคู่ขนานระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่กำลังสู้รบกลับไม่เป็นผลจนกระทั่งตอนนี้ ทั้งๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอนได้ออกปากเตือนในเดือนตุลาคมแล้วว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อฝ่ายใดก็ตามที่บ่อนทำลายกระบวนการนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐสภาที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติมีมติไม่เข้าร่วมการเจรจาใดๆ ก็ตาม หากสภานิติบัญญัติในกรุงตริโปลีได้รับเชิญ
เมื่อเดือนที่แล้วกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธที่มีพวกอิสลามิสต์หนุนหลัง และกำลังควบคุมเมืองหลวงและเมืองมิสราตา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของลิเบีย ได้เปิดฉากการบุกโจมตีเพื่อเข้ายึดครองสถานีส่งออกน้ำมันหลักทางตะวันออกของประเทศนี้
บรรดาผู้ภักดีต่อรัฐบาลที่นานาชาติให้การรับรอง ซึ่งมาหลบภัยในภาคตะวันออกอันห่างไกลแห่งนี้ ได้ทำการตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศครั้งแรกของพวกเขาใส่เมืองมิสราตา
ยูเอ็น ระบุว่า นับตั้งแต่การต่อสู้รุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคม พลเรือนได้ถูกสังหารแล้วหลายร้อยคน และอีกหลายแสนคนต้องหลบหนีละทิ้งบ้านเรือนตนเอง
ในวันนี้ (5) คณะทูตสันนิบาตอาหรับมีกำหนดการประชุมกันในกรุงไคโรเพื่อหารือเรื่องความขัดแย้งที่กำลังถลำลึกนี้ โดยบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของลิเบีย ซึ่งกลัวว่าความรุนแรงจะล้นทะลักเข้ามา ได้ออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มีการแทรกแซงจากนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ แห่งฝรั่งเศสออกมากล่าวในวันนี้ (5) ว่า การแทรกแซงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี “คำสั่งที่ชัดเจน” จากยูเอ็น , มี “ขบวนการที่แจ่มชัด” และมี “เงื่อนไขทางการเมือง” ที่เหมาะสม
“เราจะยังไม่ลงไปถึงขั้นนั้นในตอนนี้” โอลลองด์ บอกผ่านทางวิทยุฝรั่งเศส