ตลอดระยะเวลา 365 วันที่ผ่านมาในปี ค.ศ.2014 หรือปี พ.ศ.2557 นั้น รอบโลกของเราได้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆขึ้นมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เหตุการณ์เด่น-สถานการณ์ดัง” ที่ผู้คนทั่วโลกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นข่าวสารดังต่อไปนี้ซึ่งทางทีมข่าวต่างประเทศ ASTV ผู้จัดการได้นำมาสรุปไล่เรียงตามลำดับ เพื่อระลึกถึงเป็นโอกาสสุดท้ายก่อนที่เราจะก้าวเดินไปในปี 2015 นี้ร่วมกัน
เหตุการณ์สำคัญ “ระดับท็อป” ที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด เริ่มต้นก่อตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ นั่นคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ที่แม้จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายภูมิภาค แต่การอุบัติของเชื้อร้ายนี้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในปีที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนแวดวงสาธารณสุขทั่วโลก จากการที่เชื้ออีโบลาลุกลามอย่างรวดเร็วจากจุดกำเนิดในเขตป่าลึกทางภาคใต้ของประเทศกินี ก่อนแพร่กระจายเข้าสู่เขตเมืองและแพร่สู่ประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 19,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ยอดความสูญเสียจากไวรัสนี้ยังคงพุ่งไม่หยุด และกลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังคงต้องติดตามกันแบบข้ามปีต่อไป
ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ รัฐสภายูเครนทำการลงมติครั้งสำคัญเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี “วิคตอร์ ยานูโควิช” ซึ่งเป็นผู้นำที่มีจุดยืน “โปร-รัสเซีย”ออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งนายโอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ จากฝ่าย “นิยมตะวันตก” เข้ารับตำแหน่งแทน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในยูเครน หลังเกิดการประท้วงของฝ่ายโปร-ตะวันตกนานแรมเดือนในกรุงเคียฟจนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแบบฉับพลันในยูเครนมิได้ทำให้เหตุวุ่นวายภายในประเทศยุติลง ในทางกลับกันการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายนิยมตะวันตกในยูเครน (ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง) กลับนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในยูเครนอย่างเลวร้าย จนเกิดการลงประชามติแยกตัวจากยูเครนของประชาชนใน “สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย” ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยสันติ
การผนวกไครเมียของรัสเซียนั้นแม้จะเป็นไปโดยสันติและสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในไครเมียเองที่ปรารถนาจะรวมเข้ากับรัสเซีย แต่เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็น “การเสียหน้าอย่างรุนแรง” ของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของบารัค โอบามา และนำไปสู่การที่รัฐบาลวอชิงตันเดินหน้ากดดัน-บีบคั้นให้หลายชาติในยุโรปตะวันตก ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อรัสเซียในเวลาต่อมา
นอกเหนือจากการแยกตัวของไครเมียแล้ว การก้าวขึ้นครองอำนาจของรัฐบาลโปร-ตะวันตกในกรุงเคียฟ ยังผลักดันให้เกิดกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความผูกพันกับรัสเซียสูงลิ่ว โดยเฉพาะที่เขตโดเนตส์กและลูกานส์ก และการสู้รบที่บานปลายกลายเป็น “สงครามกลางเมืองยูเครน” นี้ ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปแบบมองไม่เห็นทางออก ท่ามกลางยอดผู้เสียชีวิตและผู้อพยพลี้ภัยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นรายวัน
ในวันที่ 8 มีนาคม เที่ยวบินโดยสาร “370” ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์สซึ่งเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 ได้หายไปจากท้องฟ้าแบบเป็นปริศนาพร้อมกับ 239 ชีวิตบนเครื่องระหว่างออกเดินทางจากสนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่งของจีน นำไปสู่ปฏิบัติการร่วมของหลายประเทศในการค้นหาเที่ยวบินนี้ซึ่งยังคงไม่พบ “คำตอบ” จนถึงเวลานี้
ในวันที่ 14 เมษายน กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์สุดโต่ง “โบโก ฮารัม” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสถาปนาการปกครองแบบรัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของไนจีเรีย ก่อเหตุลักพาตัวนักเรียนมัธยมหญิงจำนวน 276 คนจากโรงเรียนของรัฐบาลแห่งหนึ่งในเมืองชิบ็อค รัฐบอร์โน โดยถึงแม้ตัวประกันบางส่วนจะสามารถหลบหนีหรือได้รับการช่วยเหลือออกมา แต่ยังคงมีนักเรียนสาวอีกกว่า 219 ชีวิตที่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยกลุ่มหัวรุนแรงจนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่า พวกเธออาจถูกบังคับให้ “แต่งงาน” หรือทำหน้าที่ “บำเรอกาม” ให้กับนักรบโบโก ฮารัม
จากนั้นอีก 2 วันคือในวันที่ 16 เมษายน ทั่วโลกต้องตกตะลึงและเศร้าสลดกับข่าวการอับปางของเรือเฟอร์รี “เซวอล” นอกชายฝั่งเกาหลีใต้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน และนำไปสู่การดำเนินคดีกัปตัน-ลูกเรือที่ละทิ้งผู้โดยสารและหนีเอาชีวิตรอดในเวลาต่อมา
ในวันที่ 5 มิถุนายน กลุ่มติดอาวุธของพวกมุสลิมนิกายสุหนี่หัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ (ISIL) ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (IS) ได้เปิดการโจมตีในหลายพื้นที่ทั่วภาคเหนือของอิรักและประกาศจะเข้ายึดกรุงแบกแดดเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยพวกมุสลิมนิกายชีอะห์ของนายกรัฐมนตรีนูริ อัล-มาลิกิ และการรุกคืบของกลุ่มไอเอสทั้งในอิรักรวมถึงในซีเรียนี้ นำไปสู่การเปิดฉากโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯและชาติพันธมิตรในอีกหลายเดือนต่อมา
ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม-26 สิงหาคม เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในพื้นที่ฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ โดยการปะทะกันนานต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่วัยรุ่นอิสราเอล 3 คนถูกลักพาตัวและสังหารนี้ ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิตสูงกว่า 2,100 คน ขณะที่อิสราเอลต้องสูญเสียชีวิตพลเมืองของตนไปอย่างน้อย 71 คน
ในวันที่ 17 กรกฎาคมเที่ยวบิน “MH17” ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ถูกขีปนาวุธยิงตกในยูเครนระหว่างทำการบินในเส้นทางอัมสเตอร์ดัม-กัวลาลัมเปอร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 298 คนรวมถึงลูกเรือ 15 คน
จากนั้นในวันที่ 31 ตุลาคม เกิดความวุ่นวายใน “บูร์กินาฟาโซ” อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตกเมื่อประธานาธิบดีแบลส กองปาโอเร ที่ครองอำนาจแบบผูกขาดมานานกว่า 27 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 ถูกกดดันให้ลาออกและต้องลี้ภัยไปยังไอวอรีโคสต์ หลังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปแบบไม่มีกำหนด จนประชาชนทนไม่ไหวลุกฮือขึ้นต่อต้าน และกองทัพต้องเข้า “ควบคุมอำนาจ”
ปิดท้ายในวันที่ 17 ธันวาคมด้วยการประกาศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระดับปกติกับคิวบา ดินแดนคอมมิวนิสต์กลางทะเลแคริบเบียนที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรในทุกมิติมาตั้งแต่หลัง “การปฏิวัติคิวบา”เมื่อปี 1959
จากเหตุการณ์สำคัญระดับโลกทั้งหมดที่นำเสนอมา แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความสูญเสียและความขัดแย้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเหตุการณ์ล้วนให้แง่คิดและบทเรียนอันล้ำค่ากับมนุษยชาติได้อย่างสำคัญ
แต่ถึงกระนั้น ดูเหมือนจะมีเพียงมนุษยชาติเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ว่า เราจะยอมปล่อยให้เหตุการณ์ความสูญเสียและความขัดแย้งเหล่านี้ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 เกิดจาก “น้ำมือมนุษย์” กลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในปี 2015 และปีต่อๆไปอีกหรือไม่