เอเอฟพี - เกาหลีใต้เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ธ.ค.) ยืนยันว่าเหตุโจมตีทางไซเบอร์ต่อผู้ปฏิบัติการพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ คงไม่อาจก่อความขัดข้องใดๆ ต่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 23 แห่ง แจงระบบควบคุมแยกจากเครือข่ายภายนอก ดังนั้นการเจาะเข้าระบบจึงเป็นไปไม่ได้
การออกแบบและคู่มือปฏิบัติงานของเตาปฏิกรณ์ 2 แห่งถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานราวๆ 10,000 คนของบริษัทโคเรีย ไฮโดร แอนด์ นิวเคลียร์ เพาเวอร์ (KHNP)
เจ้าหน้าที่เผยในวันอังคาร (23 ธ.ค.) ว่า เกาหลีใต้ยกระดับรักษาความปลอดภัยตามหลังการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าว ด้วยหน่วยสงครามไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม เพิ่มระดับการเฝ้าระวังการโจมตีจากเกาหลีเหนือและเหล่ามือแฮกเกอร์จากที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบประธานาธิบดีในวันพฤหัสบดี (25 ธ.ค.) ออกมาปัดเป่ากระแสความวิตกกังวล กรณีพวกแฮกเกอร์อาจเจาะเข้าระบบและก่อความขัดข้องแก่โรงงานนิวเคลียร์ของประเทศ ด้วยระบุว่า “ระบบควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของประเทศแยกจากเครือข่ายภายนอก และโดยพื้นฐานแล้ว การเจาะเข้าระบบจึงเป็นไปไม่ได้”
ด้าน KHNP ชี้แจงว่าเนื้อหาของข้อมูลที่รั่วไหลของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โกรีและวอลซอง ไม่ใช่ข้อมูลจำแนกว่าเป็นความลับและจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยใดๆ
มือแฮกเกอร์อวดอ้างตัวเองว่าเป็นประธานกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ และขู่ปล่อยข้อมูลเพิ่มเติมจนกว่ารัฐบาลจะยอมปิดเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งนับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมเป็นต้นไป
ทีมสืบสวนเผยเมื่อวันพุธ (24 ธ.ค.) ว่าผู้ต้องสงสัยใช้ไอพีแอดเดรสที่หลากหลายในจีน แต่ก็ยอมรับว่ามันไม่ได้นำทางไปสู่ตำแหน่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเสมอไป
เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนืออาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ขณะที่โซลมักกล่าวโทษเหตุโจมตีทางไซเบอร์ต่อสถาบันทางทหาร ธนาคาร หน่วยงานรัฐบาล สถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์สื่อมวลชนเกาหลีใต้ไปยังเปียงยาง อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่าเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังการปล่อยข้อมูลนิวเคลียร์