เอเอฟพี - กองทัพปากีสถานเมื่อวันอังคาร(16ธ.ค.) สรุปเหตุการณ์กลุ่มก่อความไม่สงบ “ตอลิบานปากีสถาน” กราดยิงในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเมืองเปชาวาร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ระบุมีผู้ถูกสังหาร 141 ศพ ไม่รวมกับมือปืนที่ถูกวิสามัญทั้ง 6 คน ถือเป็นเหตุโจมตีนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่เรียกเสียงประณามจากสหรัฐฯ สหประชาชาติและสาวน้อยมาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ
ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายเล่าว่า ได้เกิดการระเบิดรุนแรงมากจนบริเวณโรงเรียน “อาร์มี่ พับลิก สคูล” ของกองทัพปากีสถานแห่งนี้สั่นสะเทือน รวมทั้งได้เห็นพวกมือปืน 6 คนสวมเครื่องแบบกองกำลังรักษาชายแดน ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารของปากีสถาน เข้าไปตามห้องเรียนและกระหน่ำยิงกราดเด็กนักเรียน ซึ่งบางคนอายุแค่ 12 ปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่าเหตุโจมตีสิ้นสุดลงตอนราวๆ 18.30 น.(ตรงกับเมืองไทย 20.30น.) หรือราว 8 ชั่วโมงหลังจากเริ่มต้นขึ้น และนักรบผู้ก่อเหตุทั้งหมดถูกวิสามัญฆาตกรรม
อาซิม บัจวา โฆษกของผู้บัญชาการทหารบกแถลงว่ามีเด็กนักเรียน 132 คนและเจ้าหน้าที่ 9 คนถูกปลิดชีพในเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ โดยยอดรวมดังกล่าวทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นเหตุโจมตีนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน แซงหน้าเหตุโจมตีขบวนหาเสียงนางเบนนาซีร์ บุตโต ในเมืองการาจี เมื่อปี 2007 ที่คราวนั้นคร่าชีวิตผู้คน 139 ศพรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงด้วย
นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานบอกว่าเขาจะเดินทางไปที่เปชวาร์ทันที เพื่อบัญชาการในปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มตอลิบานด้วยตัวเอง เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของปากีสถาน "นี่คือโศกนาฏกรรมของประเทศชาติที่ถูกก่อขึ้นมาด้วยความโหดเหี้ยมป่าเถื่อน คนเหล่านี้คือลูกหลานของผม นี่ก็คือความสูญเสียของผมและความสูญเสียของประเทศชาติ"
ส่วนนางสาวมาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่รอดชีวิตจากการถูกกลุ่มตอลิบานยิงที่ศีรษะกล่าวว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียนที่เมืองเปชาวาร์ทำให้ เธอหัวใจสลาย พร้อมทั้งประณามการกระทำที่เหี้ยมโหดและขี้ขลาดของตอลิบาน "เช่นเดียวกับผู้คนนับล้านทั่วโลก ดิฉันเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของเด็กๆ ซึ่งเป็นเสมือนพี่และน้องของดิฉัน แต่เราจะไม่มีวันพ่ายแพ้" มาลาลากล่าว
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ประณามการโจมตีดังกล่าวว่าน่ารังเกียจและอเมริกาจะขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างปากีสถานในความพยายามต่อสู้กับความรุนแรงจากฝีมือพวกหัวรุนแรง ขณะที่นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดเล่นงานเด็กๆที่ป้องกันตัวเองไม่ได้ "มันเป็นพฤติกรรมที่น่าขยะแขยงและขี้ขลาดที่โจมตีเด็กๆที่ไร้ทางปกป้องตนเองระหว่างที่พวกหนูน้อยกำลังเรียนหนังสืออยู่ หัวใจของคนทั้งโลกขอเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อแม่และครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป"
ผู้นำของอินเดียและอัฟกานิสถาน ก็ออกมาประณามการก่อเหตุโจมตีคราวนี้เช่นกัน
โรงเรียนแห่งนี้เป็น 1 ในระบบโรงเรียนและวิทยาลัยสังกัดกองทัพปากีสถาน โดยที่กองทัพเป็นผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ 146 แห่ง ขณะที่นักเรียนซึ่งอายุตั้งแต่ 10 ถึง 18 ปี มีทั้งที่เป็นลูกหลานของทหารและของพลเรือน สำหรับครูอาจารย์จำนวนมากทีเดียวเป็นภรรยาของทหาร
ถึงแม้ปากีสถานเป็นประเทศที่เกิดความไม่สงบอยู่เสมอ และเปชาวาร์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนอัฟกานิสถาน ก็มีเหตุรุนแรงจากกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งอยู่เป็นประจำ แต่ขนาดความเสียหายจากการโจมตีคราวนี้ก็ยังคงสร้างความตื่นตะลึง
มูฮัมหมัด โคราซานี โฆษกของกลุ่มทีทีพี แถลงว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการแก้แค้นให้แก่นักรบตอลิบานและครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งถูกฆ่าในระหว่างที่กองทัพเปิดการรุกโจมตีปราบปรามที่มั่นต่างๆ ของพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ในเขตนอร์ทวาซิริสถาน พื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถานที่อยู่ติดต่อกับแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา
“เราทำเช่นนี้ก็เพราะเราต้องการให้พวกเขาได้รู้สึกถึงความเจ็บปวดว่ามันโหดร้ายขนาดไหนเมื่อคนที่คุณรักถูกฆ่าตายไป” เขาบอก
“พวกเราต้องใช้มาตรการเช่นนี้ ก็เพื่อทำให้ครอบครัวของพวกเขาต้องโศกเศร้าเสียใจ อย่างที่ครอบครัวของพวกเราเองกำลังโศกเศร้าเสียใจอยู่”
กองทัพได้สรรเสริญการปฏิบัติการปราบปรามที่มั่นต่างๆ ของทีพีพีในนอร์ทวาซิริสถานว่า เป็นความสำเร็จอันสำคัญ โดยที่ตามการรวบรวมข้อมูลตัวเลขของเอเอฟพีจากคำแถลงต่างๆ ตามปกติของฝ่ายทหาร พบว่าตั้งแต่ที่เริ่มเปิดยุทธการนี้ขึ้นมาในเดือนมิถุนายน มีผู้ถูกสังหารไปมากกว่า 1,600 คน
ทางด้าน ตอลัต มาซูด นายพลเกษียณอายุที่หันมาเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ให้ความเห็นว่าการโจมตีครั้งนี้ พวกตอลิบานมีจุดมุ่งหมายที่จะเล่นงานสั่นคลอนความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของฝ่ายทหาร
“พวกหัวรุนแรงรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะโจมตีใส่หัวใจของฝ่ายทหารได้ พวกเขาไม่มีศักยภาพที่จะทำถึงขนาดนั้นได้ ดังนั้น พวกเขาจึงกำลังมุ่งหันมาเล่นงานพวก 'เป้านิ่ม' (soft targets) ทั้งหลาย” เขากล่าว ซึ่งหมายถึงพวกเป้าหมายที่ไม่ค่อยมีการป้องกัน หรือป้องกันได้ยาก แต่สามารถสร้างความกระทบกระเทือนถึงเป้าหมายหลัก