xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 หดตัวยิ่งกว่าที่คาด ชี้ชัดถึงภาวะ “ถดถอย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ติดลบถึง 0.5% ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าแดนปลาดิบซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) อย่างแท้จริง ตัวเลขทางการเผยวันนี้ (8 ธ.ค.)

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงว่า เศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงถึง 0.5% ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประเมิน 0.4% ที่ระบุไว้ในรายงานเบื้องต้นเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน และยังเลวร้ายกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประมาณค่ามัธยฐานไว้ว่าไม่น่าจะเกิน 0.1% ตามผลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ

เมื่อเทียบต่อปี (annualized rate) เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยหดตัวลง 1.9% จากเดิมที่รัฐบาลประเมินไว้เพียง 1.6% เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็หดตัวถึง 1.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าประเทศนั้นๆ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งเน้นการใช้จ่ายงบประมาณก้อนโตดันราคาหุ้นให้พุ่งสูงและเงินเยนอ่อนค่าลงในระยะแรกๆ แต่เริ่มส่อแววมีปัญหาหลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายน ซึ่งทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในวันนี้ (8) ยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มหดตัว 0.4% ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2013 ก่อนที่อาเบะจะประกาศขึ้นภาษีในเดือนเมษายนปีนี้เสียอีก

เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว 1.4% อีกครั้งระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นแห่จับจ่ายซื้อสินค้าก่อนที่ภาษีจะเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ในวันที่ 1 เมษายน

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 0.4% ในไตรมาสที่ 3 หลังจากที่ดิ่งวูบลงไปถึง 5.1% ในไตรมาส 2 ของปี ขณะที่การลงทุนภาคครัวเรือนยังลดลง 6.8% และการลงทุนของบริษัทเอกชนก็ลดลง 0.4%

ปฏิกิริยาเชิงลบที่เกิดขึ้นทำให้ อาเบะ ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีระลอก 2 ในเดือนตุลาคมปีหน้าออกไปจนถึงปี 2017 และยังประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี เพื่อถือโอกาสหยั่งเสียงประชาชนสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลในช่วงที่คะแนนนิยมยังไม่ตกต่ำเกินกู้ และฝ่ายค้านเองก็ยังไม่ฟื้นจากความพ่ายแพ้เมื่อ 2 ปีก่อน

แม้การขึ้นภาษีจะช่วยให้รัฐมีเงินรายได้มาลดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงถึง 200% ของจีดีพี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ อาเบะ ตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการลดหนี้กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี มาร์เซล ธีเลียนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากสถาบัน แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า เศรษฐกิจแดนปลาดิบอาจพลิกกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังระบุด้วยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นเกินดุลถึง 833,400 ล้านเยนในเดือนตุลาคม จากเดิมที่ประเมินว่าขาดดุล 154,300 ล้านเยน ทั้งนี้เป็นผลมาจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

กำลังโหลดความคิดเห็น