เอเจนซีส์ - “โอบามา” ให้ความเห็นว่า “สี จิ้นผิง” สามารถรวบอำนาจได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมยิ่งกว่าผู้นำจีนคนใดๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จนน่าเป็นห่วงในเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งทำให้พวกเพื่อนบ้านระแวง ขณะเดียวกัน เขาก็วิจารณ์ “ปูติน” กำลังเชิดชูลัทธิชาตินิยม ซึ่งส่งผลดีด้านการเมืองภายในประเทศ แต่กำลังทำให้เศรษฐกิจและรัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวกับกลุ่ม “บิซิเนส ราวด์เทเบิล” ซึ่งประกอบด้วยพวกผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้รับการยอมรับนับถืออย่างรวดเร็วนับจากขึ้นสู่ตำแหน่ง
“เขากระชับอำนาจได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าและครอบคลุมมากกว่าผู้นำจีนคนใดนับจากเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา” โอบามากล่าว ทั้งนี้ เติ้ง คือผู้นำสูงสุดของแดนมังกรในช่วงระหว่างปี 1978-1992
“ทุกคนต่างรู้สึกประทับใจในอิทธิพลบารมีของเขาภายในจีน หลังจากรับตำแหน่งมาได้เพียงปีครึ่งหรือสองปีเท่านั้น” ผู้นำสหรัฐฯ บอก
กระนั้น โอบามาสำทับว่า อำนาจของสี มีด้านลบเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน การปราบปรามผู้คัดค้าน และการชูกระแสชาตินิยมที่กระตุ้นความกังวลแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังมีข้อพิพาททางทะเลกันอยู่
อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า “ในทางกลับกัน ผมคิดว่าจีนมีความสนใจแรงกล้าในอันที่จะรักษาสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ” ประมุขทำเนียบขาวยังบอกว่า อเมริกาก็ต้องการแสดงให้จีนเห็นว่า ปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ที่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ควบคู่กับยืนยันให้ปักกิ่งแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การโจรกรรมข้อมูลธุรกิจทางไซเบอร์
โอบามายังสนับสนุนให้ผู้นำธุรกิจกล้าเปิดเผย หากถูกบังคับด้วยกำลังหรือถูกชี้นิ้วสั่งการ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ แม้การกระทำดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจในจีนถูกลงโทษก็ตาม
ผู้นำสหรัฐฯ ยังมั่นใจว่า วอชิงตันสามารถจัดการความสัมพันธ์กับปักกิ่งในแนวทางที่ส่งผลดีต่อโลกโดยรวม
แต่เมื่อกล่าวถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ดูเหมือนน้ำเสียงโอบามาเย็นชาลงอย่างชัดเจน
“เขาด้นสดให้ตัวเองกลายเป็นนักชาตินิยม รื้อฟื้นนโยบายที่สร้างความหวาดกลัวและไม่พอใจให้เพื่อนบ้าน และยังทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเสียหาย
“เรายังคงเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยแนวทางการทูต แต่สิ่งที่ท้าทายคือ แนวทางชาตินิยมส่งผลดีทางการเมืองสำหรับตัวเขาเองภายในรัสเซีย แต่กลับทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิงจากนานาชาติ”
โอบามาสำทับว่า ไม่คิดว่าปูตินจะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็วในเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน และจะต้องรอไปจนกว่าการเมืองภายในรัสเซียจะตามทันว่า เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ และนี่แหละคือเหตุผลที่อเมริกายังคงเดินหน้ากดดันเครมลินต่อเนื่องในเวลานี้
ผู้นำสหรัฐฯ เสริมว่า มาตรการแซงก์ชันของตะวันตกจากกรณีแดนหมีขาวเข้ายึดครองและผนวกไครเมียนั้น กำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง
เวลานี้หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า ยูเครนและกบฏโปรรัสเซียจะเคารพข้อตกลงหยุดยิงในจังหวัดลูกันสก์ ทางตะวันออกของยูเครนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ (5) แม้ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปก็ตามที
ทั้งนี้ ข้อตกลงหยุดยิงฉบับก่อนหน้านี้ซึ่งตกลงกันเมื่อวันที่ 5 กันยายน สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์การสู้รบได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีการละเมิดข้อตกลงบ่อยครั้ง และแต่ละครั้งทำให้เกิดการสูญเสียนับร้อยชีวิต
โอบามาสำทับว่า ตนรักษาระดับความสัมพันธ์กับปูติน ให้อยู่ในลักษณะตรงไปตรงมามากๆ
ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองพบกันช่วงสั้นๆ ระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ปักกิ่งเดือนที่แล้ว แต่ไม่มีการหารือทวิภาคีอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด