xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-มาเลย์ เห็นควรฟื้นโต๊ะเจรจาโจรใต้ เผย “บิ๊กตู่” ยอมลดกำลังทหารแลกหยุดโจมตี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้การต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ทำเนียบรัฐบาลแดนเสือเหลือง
เอเอฟพี - “บิ๊กตู่” และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เห็นพ้องระหว่างหารือกันในวันจันทร์ (1 ธ.ค.) ว่า การเจรจาดับไฟใต้ที่หยุดชะงักไป ควรถูกรื้อฟื้นก็ต่อเมื่อพวกก่อเหตุความไม่สงบหยุดโจมตีทุกรูปแบบ และรวมข้อเสนอเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่ไทยก็อาจปรับลดกำลังพลที่ประจำการอยู่ทางภาคใต้เป็นข้อแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ที่เห็นพ้องต้องกันระหว่าง นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวโดยผู้นำแดนเสือเหลือง ได้ก่อข้อสงสัยเกี่่ยวกับความรวดเร็วในการคืนสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพเพื่อยุติเหตุความขัดแย้งที่เรื้อรังมานาน

พลเอก ประยุทธ์ เดินทางถึงมาเลเซียในวันจันทร์ (1 ธ.ค.) ในกำหนดการเยือนเป็นเวลา 1 วัน และถือเป็นครั้งแรกที่อดีตผู้บัญชาการกองทัพรายนี้เดินทางเยือนชาติเพื่อนบ้านทางใต้ ซึ่งชนกลุ่มใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับตั้งแต่นำกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าวาระลำดับต้นๆ ของการเยือนครั้งนี้ก็คือการเจรจาสันติภาพที่ชะงักงัน

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายนาจิบ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือ ว่า พลเอก ประยุทธ์ เห็นพ้องว่ากองทัพของไทยอาจลดกำลังพลที่ประจำการอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ลง หากว่าผู้ก่อเหตุความไม่สงบยอมระงับการโจมตี “ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเคารพกฎหมายและนายกรัฐมนตรีของไทยเห็นพ้องว่ากองทัพอาจลดประจำการทหาร”

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายนาจิบ ให้ความเห็นกับเบอร์นามา สำนักข่าวแห่งรัฐ ยอมรับว่า “ความพยายามต่างๆเหล่านี้ คงต้องใช้เวลา”

สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่าทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นโจมตีด้วยระเบิด ยิง และบางครั้งก็ตัดศีรษะ ซึ่งเกิดขึ้นแบบรายวัน ได้โหมกระพือขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้ และไม่มีวี่แววจะจบลงง่ายๆ กระตุ้นให้ไทยต้องทบทวนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้เสียใหม่

มาเลเซีย รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มกบฏมุสลิมกับรัฐบาลไทย ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายรอบเมื่อปีที่แล้ว แต่การพูดคุยมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และท้ายที่สุดก็พังครืนลงไป เนื่องจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกห้อมล้อมด้วยวิกฤตทางการเมือง ก่อนที่เธอจะถูก พลเอก ประยุทธ์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดความขัดแย้งนี้ ให้ความเห็นว่าความแตกแยกของกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ คือ อุปสรรคของการเจรจาสันติภาพ โดยในเรื่องนี้นายนาจิบให้ความเห็นว่าพวกกบฏทุกกลุ่มเห็นพ้องต้องกันในเรื่องข้อเรียกร้องเสียก่อน จากนั้นการเจรจาอย่างจริงจังถึงจะสามารถเริ่มต้นได้ หลังจากเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาเมื่อปีที่แล้ว ได้ก่อข้อสงสัยว่าพวกกบฏที่เข้าร่วมโต๊ะหารือ เข้ามาพูดในฐานะตัวแทนกลุ่มก๊กอื่นๆ หรือมีอำนาจสั่งการเหนือนักรบในพื้นที่หรือไม่

องค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในนั้นรวมถึงวิสามัญฆาตกรรม และแม้แสวงหาทางคืนสู่โต๊ะเจรจา แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการไทยเพิ่งแจกจ่ายปืนสั้นหลายร้อยกระบอกแก่ชาวบ้าน อ้างว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องปกป้องตนเองตามหลังเหตุโจมตีพลเรือนหลายระลอก อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนว่าความเคลื่อนไหวนี้รังแต่จะเพาะเชื้อความหวาดกลัวและความรุนแรงให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น