เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แถลงวันนี้ (26 พ.ย.) ว่ามาเลเซีย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กำลังจะออกกฎหมายปราบปรามการก่อการร้ายเร็วๆ นี้ เพื่อรับมือกับเหล่าผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
นาจิบ กล่าวต่อสภามาเลเซียว่า รัฐบาลของเขาจะแก้ไขกฎหมายความมั่นคงฉบับปัจจุบัน ให้มีความเข้มงวดเด็ดขาดมากขึ้น ในยามที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแดนเสือเหลืองพากันวิตกกังวลขึ้นเรื่อยๆ ว่า ชาวมาเลเซียที่เดินทางไปร่วมสู้รบกับกลุ่มไอเอส ในอิรักและซีเรียนั้น อาจเดินทางกลับมาเผยแพร่แนวคิดอิสลามหัวรุนแรงในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
นาจิบกล่าวว่า “เมื่อพิจารณาลักษณะก่อเหตุของกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้ เราเกรงว่าชาวมาเลเซียที่เดินทางกลับมาจากเขตสงครามในซีเรียอิรักอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”
เขาแสดงความกังวลว่า ชาวมาเลเซียกลุ่มนี้อาจกลับมาพร้อมกับความชำนิชำนาญด้านก่อสงคราม และอาจก่อเหตุโจมตีแบบ “บุกเดี่ยว” ในประเทศ ทว่า ผู้นำมาเลย์ยังไม่ได้ชี้แจงว่า กฎหมายปราบปรามการก่อการร้ายฉบับใหม่จะกำหนดบทลงโทษอย่างไรบ้าง
นาจิบ มีถ้อยแถลงเช่นนี้ ขณะที่เขากำลังนำเสนอรายงานราชการเรื่องภัยคุกคามการก่อการร้าย ที่ระบุว่า ในปัจจุบันมีชาวมาเลเซียเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มไอเอสในซีเรียแล้ว 39 คน โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 5 ราย
เอกสารฉบับดังกล่าวชี้ด้วยว่า จนถึงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมชาวมาเลเซียได้ 40 คนที่บ้าน ฐานต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส
ในจำนวนนี้มี 21 คนถูกตั้งจับกุมในข้อหาต่างๆ ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากขาดหลักฐาน แต่ตำรวจยังจะคงจับตาดูพวกเขาต่อไป
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า สามารถขัดขวางแผนลอบวางระเบิดผับ ดิสโก และโรงงานผลิตเบียร์เดนมาร์ก “คาร์ลส์เบิร์ก” ในมาเลเซีย ที่ผู้ก่อเหตุนับสิบได้รับแรงบันดาลใจจากการก่อเหตุของกลุ่มไอเอส
ทั้งนี้ มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ยึดมั่นในทางสายกลางได้พยายามปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทัศนคติแบบอิสลามเคร่งจารีตเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วงที่รัฐบาลแดนเสือเหลืองซึ่งปกครองประเทศมาเนิ่นนานเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบในประเทศให้มีความยืดหยุ่นขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซียได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า ความพยายามขับไล่นักรบไอเอสร่วมกันของกลุ่มชาติพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐฯ นั้น “ไร้ประสิทธิภาพ” พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันป้องกันไม่ให้นักรบญิฮาดจัดตั้งฐานที่มั่นในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ เรื่องกฎหมายความมั่นคงนั้นถือเป็นประเด็นที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในมาเลเซีย ประเทศที่รัฐบาลถูกกล่าวหาอยู่บ่อยครั้งว่า เหยียบย่ำเสรีภาพของพลเรือน และใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือปิดปากผู้มีความเห็นต่าง