เอเอฟพี - กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช HRWออกแถลงการณ์ประนามสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียในการใช้วิธี “ตรวจพรหมจรรย์” เป็นหนึ่งในการคัดเลือกผู้เข้ารับสมัครคัดเลือกเข้าร่วมทำงานในหน่วยยงานใต้สังกัด
กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ประนาม ว่า บรรดาผู้สมัครสตรีชาวอินโดนีเซียทั้งยังโสดและสมรสต้องผ่านการตรวจพรมจรรย์ทั้งสิ้น ซึ่งระบบการตรวจพรหมจรรย์นี้ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางถึงแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงบางส่วนออกมายืนยันว่าระบบนี้ได้ถูกยกเลิกแล้วก็ตาม
ในการให้ข้อมูลกับกลุ่ม ฮิวแมนไรท์วอช HRW หญิงชาวอิเหนาที่ยังอายุน้อย รวมไปถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจล่าสุดภายในปีนี้ล้วนต่างอธิบายถึงขั้นตอนว่า “เจ็บปวดและน่าขมขื่น”
โดยหญิงเหล่านี้ต่างเล่าตรงกันถึงประสบการณ์ในสิ่งที่พวกเธอต้องประสบนับตั้งแต่ถูกบังคับให้เปลื้องผ้า ก่อนที่แพทย์หญิงจะทำการตรวจด้วยสองนิ้วสอดใส่เข้าช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชเรียกว่า “ เป็นความล้าสมัยและไม่น่าเชื่อถือ”
“ดิฉันไม่ต้องการจำเหตุการณ์ที่น่าโหดร้าย มันช่างน่าอับอาย” หญิงสาวชาวอินโดนีเซียวัย 19 ปีรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อได้เข้ารับการตรวจในเมืองเปกันบารู บนเกาะสุมาตราตะวันตก
และหญิงอีกรายได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ดิฉันคิดว่าทำไมเราต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าคนแปลกหน้าด้วย ดิฉันไม่คิดว่าเป็นสิ่งสมควร ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดวิธีการตวจสอบนี้”
นีชา วาเรีย (Nisha Varia) ผู้อำนวยการกลุ่มองค์กรปกป้องสิทธิสตรีประจำ HWR ได้ประนามการตรวจพรหมจรรย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียว่า “ระบบกดขี่สตรีที่ทำให้ต้องทุกข์ทรมานและต้องผจญกับความอับอาย”
“ตำรวจในจาการ์ตาต้องยกเลิกการตรวจสอบพรหมจรรย์ที่อื้อฉาวในทันที และต้องประกาศให้ระบบการเข้ารับสมัครเจ้าหน้าใหม่เข้าประจำสังกัดในทุกแห่งภายใต้การกำกับต้องหยุดการใช้การทดสอบประเภทนี้” วาเรียกล่าว
โดยทาง HWRแถลงว่า การทดสอบพรหมจรรย์เป็นการละเมิดแนวทางการเข้ารับสมัครของกำลังพลใหม่ และยังละเมิดกฎหมายต่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในความเท่าเทียม การไม่ถูกแบ่งแยก และสิทธิปกป้องความเป็นส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ตำรวจอิเหนายังไม่แสดงความเห็นในเรื่องนี้
ในขณะที่ตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียได้ยืนยันในรอบหลายปีล่าสุดว่า การตรวจพรหมจรรย์สำหรับผู้เข้ารับสมัครหญิงนั้นได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ HWRแย้งว่า การตรวจสอบพรหมจรรย์ยังปรากฏให้เห็น โดยมีระบุในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียกำหนดว่า ผู้สมัครหญิงทุกคนต้องผ่านการตรวจ
ในปัจจุบันนี้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียมีเจ้าหน้าที่หญิงร่วมงานราว 3 % ของกำลังพลทั้งหมด 400,000 คน แต่เสริมว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอิเหนามีนโยบายต้องการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงให้สูงขึ้น
เอเอฟพีรายงานว่า สังคมแดนอิเหนายังคงเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม และยังให้ค่านิยมกับพรหมจรรย์ของสตรีสูง
ในปีที่ผ่านมา มีข่าวพาดหัวตัวไม้สร้างความสั่นสะเทือนทั่วอินโดนีเซียเมื่อหัวหน้าการศึกษาประจำเมืองได้ให้สัมภาษณ์ว่า เด็กนักเรียนหญิงที่จะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายควรต้องเข้ารับการตรวจพรหมจรรย์เสียก่อน