xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล ลาดตระเวนประจำที่อเมริกาเหนือ หลังขัดแย้งตะวันตกกรณียูเครน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) เครื่องบินเอฟ22ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ(ด้านบน) บินประกบเครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียเมื่อปี 2011
เอพี - รัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เกย์ ชอยกู ของรัสเซียแถลงในวันพุธ (12 พ.ย.) เตรียมส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล ออกลาดตระเวนเป็นประจำ จากมหาสมุทรอาร์กติกถึงทะเลแคริบเบียนยันอ่าวเม็กซิโก ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพแบบที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ในขณะที่ตอนนี้มอสโกกำลังบังเกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรงกับฝ่ายตะวันตกสืบเนื่องจากกรณียูเครน

คำแถลงของชอยกูคราวนี้ ยังออกมาหลังจากที่ พล.อ.ฟิลิป บรีดเลิฟ นายทหารอเมริกันที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดขององค์การนาโตคนปัจจุบัน แถลงในวันพุธว่า ระยะ 2 วันที่ผ่านมา รัสเซียได้ลำเลียงอาวุธและกองกำลังเข้าสู่ยูเครนอีกระลอก ทว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธทันทีว่าไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้รัสเซียอธิบายว่า ความตึงเครียดที่มีอยู่กับฝ่ายตะวันตกจากกรณียูเครน ทำให้รัสเซียต้องเสริมกำลังในแหลมไครเมีย ที่เพิ่งผนวกรวมกับรัสเซียในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ขณะที่คำแถลงของชอยกูแจกแจงว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของรัสเซีย จะปฏิบัติภารกิจบินลาดตระเวนเป็นประจำ ตามแนวพรมแดนของรัสเซียเองและเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และกล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน มอสโกจำเป็นต้องคงการปรากฏตัวทางทหารเอาไว้ ทั้งในบริเวณด้านตะวันตกของแอตแลนติก ด้านตะวันออกของแปซิฟิก ตลอดจนถึงทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก

ชอยกูเสริมด้วยว่า จากการเพิ่มความถี่และเพิ่มระยะเวลาในการบินลาดตระเวนเช่นนี้ ทำให้ต้องใช้ความพยายามในการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น และได้มีการออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว

ทั้งนี้ ในยุคสงครามเย็น เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ของรัสเซีย ได้เคยบินลาดตระเวนเหนือแอตแลนติกและแปซิฟิกอยู่เป็นประจำ แต่ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายและประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณจึงมีการตัดลดภารกิจนี้ลง อย่างไรก็ดี มีการรื้อฟื้นเที่ยวบินเช่นนี้ขึ้นอีกครั้งในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

องค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รายงานว่า ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ พบเครื่องบินทางทหารของรัสเซียบินเหนือทะเลดำ ทะเลบอลติก ทะเลเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มขึ้น

ขณะที่ต้นปีนี้ ชอยกูกล่าวว่า รัสเซียมีแผนขยายการปรากฏตัวทางทหารในขอบเขตทั่วโลก โดยกำลังขออนุญาตให้เรือของกองทัพเรือแดนหมีขาว เข้าใช้ท่าเรือในละตินอเมริกา เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อเติมเสบียงและซ่อมบำรุง โดยเขาระบุว่า กองทัพรัสเซียกำลังเจรจากับแอลจีเรีย ไซปรัส นิการากัว เวเนซุเอลา คิวบา เซเชลส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ รวมทั้งหารือกับบางประเทศในหมู่ประเทศเหล่านี้เพื่อขออนุญาตให้เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของรัสเซียเข้าใช้ฐานทัพอากาศเพื่อเติมเชื้อเพลิง

เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสผู้หนึ่งของสหรัฐฯ กล่าวว่า รัสเซียไม่เคยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดลาดตระเวนเหนืออ่าวเม็กซิโกมาก่อน แม้กระทั่งระหว่างช่วงสงครามเย็น

เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของรัสเซียเคยปรากฏตัวเหนืออ่าวเม็กซิโก เฉพาะเมื่อไปเข้าร่วมกิจกรรมการเยือนต่างๆ โดยที่เครื่องบินรัสเซียเหล่านี้ก็จะแวะจอดช่วงกลางคืนในอเมริกาใต้หรืออเมริกากลาง ส่วนในช่วงสงครามเย็น รัสเซียส่งเครื่องบินประเภทอื่นไปลาดตระเวนในบริเวณดังกล่าว เช่น เครื่องบินตรวจการณ์ และเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ

เจ้าหน้าที่คนเดิมที่ไม่ประสงค์ออกนามเสริมว่า ความถี่ของเครื่องบินรัสเซียในการบินผ่านแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมถึงอาร์กติกด้วย ส่วนใหญ่ค่อนข้างคงที่ คือราว 5 ครั้งต่อปี

ทางด้าน พ.อ.สตีฟ วาร์เรน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ไม่อยากเรียกความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียนี้ว่าเป็นการยั่วยุ เขากล่าวว่ารัสเซียย่อมมีสิทธิ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในการทำการบินในน่านฟ้าสากลและเหนือน่านน้ำสากล สิ่งสำคัญคือ ภารกิจดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับมาตรการสากล

ขณะที่ เอียน เคิร์นส์ ผู้อำนวยการยูโรเปียน ลีดเดอร์ชิป เน็ตเวิร์ก กลุ่มคลังสมองในลอนดอนแสดงความเห็นว่า การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดออกมาลาดตระเวนเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามของกองทัพรัสเซียที่จะ “ปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้นและแสดงความหนักแน่นยิ่งขึ้นในการปฏิบัติการของตน”

แต่เขาก็เห็นว่า ความเคลื่อนไหวนี้ “ไม่จำเป็นว่าจะก่อให้เกิดการคุกคามขึ้นมา” แต่กระนั้น การที่กองกำลังนาโตและรัสเซียเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้น ย่อมมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดสิ่งเลวร้ายแม้โดยไม่เจตนาก็ตาม

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10) ยูโรเปียน ลีดเดอร์ชิป เน็ตเวิร์ก ได้ออกรายงานระบุว่า มีการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังรัสเซียกับนาโตมากขึ้น นับจากที่มอสโกผนวกรวมไครเมีย ซึ่งรวมถึงการละเมิดน่านฟ้าของบางประเทศ การบินสอดแนมใกล้เรือรบ และการที่รัสเซียจำลองภารกิจจู่โจมทิ้งระเบิด

กลุ่มคลังสมองแห่งนี้ระบุว่า มีอยู่ 3 กรณีจากเกือบๆ 40 กรณีที่ “มีความเป็นไปได้สูง” ที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรง กล่าวคือครั้งหนึ่งนั้นเครื่องบินพาณิชย์เกือบชนกับเครื่องบินตรวจการณ์รัสเซีย อีกครั้งหนึ่งคือกรณีการลักพาตัวเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเอสโทเนีย และกรณีที่สวีเดนไล่ล่าเรือดำน้ำที่สงสัยว่าเป็นของรัสเซีย

รายงานยังระบุว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมา เครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ของเครมลินฝึกโจมตีอเมริกาด้วยจรวดร่อนในทะเลลาบราดอร์นอกชายฝั่งแคนาดา และเดือนพฤษภาคม เครื่องบินของกองทัพรัสเซียบินโฉบชายหาดแคลิฟอร์เนียในระยะห่างเพียง 80 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้ที่สุดนับจากช่วงหลังสงครามเย็น
กำลังโหลดความคิดเห็น