เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ พร้อมแกนนำกบฏชีอะห์อีก 2 คนวานนี้ (7 พ.ย.) ฐานกระทำการคุกคามสันติภาพในเยเมน
ข้อเสนอจากสหรัฐฯ ซึ่งขอให้ปฏิเสธวีซา และอายัดทรัพย์สินของอดีตผู้นำเยเมนพร้อมหัวหน้ากบฏ “ฮูธี” นิกายชีอะห์อีก 2 คน เริ่มมีผลบังคับเมื่อเวลา 22.00 น. GMT หลังไม่มีเสียงคัดค้านจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทั้ง15 ชาติ
อับดุลคอลิก อัล-ฮูธี และ อับดุลเลาะห์ ยะห์ยา อัล-ฮะกีม สองแกนนำระดับสูงของกบฏชีอะห์ในเยเมน ตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรครั้งนี้ ทว่าผู้นำสูงสุดของกบฏอย่าง อับดุลมาลิก อัล-ฮูธี ยังไม่อยู่ในข่ายคว่ำบาตร
อับดุลคอลิก อัล-ฮูธี เป็นน้องชายของผู้นำสูงสุด และเป็นหนึ่งในแกนนำที่สั่งการโจมตีกรุงซานาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วน อัล-ฮะกีม นั้นเป็นผู้บัญชาการเบอร์ 2 รองจาก อับดุลมาลิก
บทลงโทษของยูเอ็นมีขึ้นหลังจากกลุ่มสนับสนุน ซาเลห์ และกบฏฮูธีหลายพันคนได้ก่อเหตุจลาจลบนท้องถนนในกรุงซานาเพื่อต่อต้านการเอาผิดอดีตประธานาธิบดี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าหนุนหลังกบฏกลุ่มนี้อยู่
ปฏิบัติการรุกคืบของกบฏฮูธีทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า เยเมนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในการต่อสู้กับอัลกออิดะห์อาจตกสู่ภาวะไร้ขื่นแป อีกทั้งอิหร่านก็ดูเหมือนจะฉวยโอกาสสนับสนุนพวกกบฏซึ่งนับถือนิกายชีอะห์
สหรัฐฯ ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการว่าด้วยการคว่ำบาตรเยเมนของคณะมนตรีความมั่นคงฯ โดยกล่าวหาอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ ว่าอาศัยมือกบฏฮูธี “ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเยเมน และยังบั่นทอนความมั่นคงเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร”
วอชิงตันอ้างรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งซึ่งชี้ว่า ซาเลห์ว่าจ้างหน่วยปฏิบัติการของอัลกออิดะห์ให้ก่อเหตุลอบสังหารและโจมตี เพื่อบั่นทอนความแข็งแกร่งของรัฐบาลประธานาธิบดีอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี ที่ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำเยเมนต่อจากเขา
สหรัฐฯ ระบุด้วยว่า อับดุลเลาะห์ ยะห์ยา อัล-ฮะกีม เคยเสนอแผนก่อรัฐประหารระหว่างการประชุมร่วมกับหัวหน้าชนเผ่า, ผู้บัญชาการด้านความมั่นคง และบุคคลผู้มีอำนาจอื่นๆ ที่ยังคงจงรักภักดีต่อ ซาเลห์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เมื่อวานนี้ (7) เยเมนได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 36 คน โดยหวังว่าจะช่วยดึงประเทศชาติให้หลุดพ้นจากวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ได้
ซาเลห์ ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากเยเมนเหนือและใต้รวมกันเป็นประเทศเดียวในปี 1990 และถูกบีบให้สละอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012 ภายใต้แผนสันติภาพที่กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเสนอ