xs
xsm
sm
md
lg

‘ลาว’ มีแผนขายที่ดินให้นักลงทุนต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: อ่อนแก้ว สุกสะหวัน (วิทยุเอเชียเสรี)

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos to open sale of land to foreigners
By Ounkeo Souksavanh
31/10/2014

ลาวกำลังเตรียมออกกฎหมายใหม่ ซึ่งจะอนุญาตให้พวกนักลงทุนต่างประเทศซื้อที่ดินได้ เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการดึงดูดการลงทุนของต่างประเทศให้มายังระบบเศรษฐกิจที่ยังยากจนมากแห่งนี้ ทว่ามีบางกลุ่มซึ่งระบุว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะกลายเป็นการแบ่งแยกกีดกันคนภายในประเทศ รวมทั้งคุกคามอำนาจอธิปไตยของชาติด้วย

ลาวกำลังเตรียมออกกฎหมายใหม่ ซึ่งจะอนุญาตให้พวกนักลงทุนต่างประเทศซื้อที่ดินได้ ทว่ามีบางกลุ่มซึ่งออกมาติติงว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะกลายเป็นการแบ่งแยกกีดกันผู้คนภายในประเทศ รวมทั้งคุกคามอำนาจอธิปไตยของชาติด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Natural Resources and Environment) กำลังจัดทำร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยที่ดินฉบับหนึ่ง ซึ่งจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินเพื่อใช้ในการลงทุนเป็นมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯในประเทศลาวได้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งของกระทรวงแห่งนี้เปิดเผยกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (RFA’s Lao Service)

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีฐานะยากจนมากแห่งนี้

“ในร่างแก้ไขปรับปรุงฉบับนี้ เราได้เพิ่มเติม (มาตราเกี่ยวกับ) เรื่องให้นักลงทุนต่างประเทศ (สามารถซื้อที่ดิน) เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน โดยที่ในขั้นตอนต่อไปก็จะนำร่างกฎหมายนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐบาลอภิปรายหารือกันเพื่ออนุมัติ ตลอดจนพิจารณาเพิ่มเติมข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา” เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอก โดยขอไม่ให้เปิดเผยชื่อ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนโยบายที่ดินของชาติ และคณะกรรมการชุดหนึ่งของกระทรวง “ตกลงเห็นชอบกันว่าเราควรที่จะบรรจุเรื่องให้ชาวต่างประเทศมีสิทธิที่จะซื้อที่ดิน (เข้าไว้ในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขปรับปรุง) ด้วย” เขากล่าว “เราทำเรื่องนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด”

ปัจจุบัน พวกนักลงทุนชาวต่างประเทศในลาว (ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดเป็นนักลงทุนที่มาจากจีนและเวียดนาม) ได้รับอนุญาตเพียงแค่การเช่าที่ดิน หรือไม่ก็ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 99 ปี โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินที่ลาวใช้อยู่เวลานี้ไม่มีมาตราใดๆ พูดถึงเรื่องการอนุญาตให้ซื้อที่ดิน ทั้งนี้ลาวซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์นั้น ถือว่าที่ดินทั้งหมดที่อยู่ในประเทศ เป็นของรัฐทั้งสิ้น

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ร่างแก้ไขปรับปรุงที่เสนอกันอยู่นี้ จะมีการกำหนดขีดจำกัดจำนวนที่ดินซึ่งนักลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อหาได้ หรือจะมีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดราคาที่ดินหรือไม่

ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงผู้นี้ ร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนี้ น่าที่จะเสนอให้ที่ประชุมของรัฐบาล ซึ่งมีกระทรวงต่างๆ เข้าร่วม อภิปรายหารือได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และหากที่ประชุมนี้ตกลงอนุมัติ ก็จะมีการส่งไปให้ “สภาแห่งชาติ” (National Assembly) ซึ่งก็คือรัฐสภาของลาวรับรอง ก่อนจะมีการลงนามประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกว่า การอนุญาตให้ชาวต่างประเทศสามารถซื้อที่ดินได้ จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้พวกเขาเข้ามาลงทุนในลาว เขาย้ำด้วยว่า ธุรกิจที่นักลงทุนเหล่านี้นำเข้ามาในลาวนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันลาวประสบกับปัญหาความยากลำบากทางการคลังอยู่บ่อยๆ ซึ่งบังคับให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ตลอดจนต้องยกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้พวกข้าราชการพลเรือน

**คัดค้านข้อเสนอ**

ผู้ประสานงานของเครือข่ายสิทธิที่ดินชุมชนรายหนึ่ง บอกกับวิทยุเอเชียเสรีว่า เขาคัดค้านความคิดหรือข้อเสนอที่จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศมีสิทธิซื้อที่ดิน และเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำมากกว่า คือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มแข็งชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้การเช่าที่ดินหรือการได้สัมปทานที่ดินของชาวต่างชาติ กลายเป็นการละเมิดรุกล้ำที่ดินของชาวบ้าน

“ผมไม่เห็นด้วยหรอกที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินได้ แต่ผมไม่มีข้อคัดค้านใดๆ เลยในเรื่องการให้พวกเขาเช่าที่ดินหรือได้รับสัมปทานที่ดิน ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนต่อทรัพย์สินของชาวบ้าน” เขากล่าว พร้อมกับสำทับว่า การขายที่ดินให้แก่กิจการของต่างชาตินั้น ย่อมเท่ากับ “การนำเอาส่วนต่างๆ ของประเทศลาวไปตกอยู่กับประเทศอื่นๆ”

ผู้ประสานงานผู้นี้ ซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อของเขา กล่าวต่อไปว่า องค์กรเครือข่ายของเขานั้นกำลังทำงานเพื่อลดทอนอิทธิพลของลัทธิทุนนิยมในลาว และให้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของการเปิดเสรีในระดับชาติตลอดจนให้มีความชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการให้นักลงทุนต่างชาติซื้อที่ดินได้ กลายเป็นการบ่งชี้ให้เห็นไปว่ารัฐบาลกำลังมุ่งหารายได้จากการลงทุนของต่างประเทศโดยยินยอมสละอำนาจอธิปไตยและสิทธิของชาวบ้าน

ความวิตกห่วงใยของผู้ประสานงานผู้นี้ ได้รับการขานรับจากชาวบ้านผู้หนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ซึ่งได้บอกกับวิทยุเอเชียเสรีว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ดินซึ่งเสนอกันออกมานี้ เหมือนๆ กับ “การเอาอาณาเขตของลาวออกมาเสนอขาย”

แหล่งข่าวทั้งหลายเหล่านี้ของวิทยุเอเชียเสรี ยังตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ทำไมรัฐบาลจึงยอมให้พวกนักลงทุนต่างชาติมีสิทธิที่จะซื้อที่ดิน ในขณะที่ยังไม่ได้อนุญาตให้พลเมืองของตนเองได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้บ้างเลย

ในปัจจุบันชาวลาวได้รับสิทธิเข้าครอบครองใช้สอยที่ดิน โดยผ่านการอนุญาตของรัฐ ที่ดินส่วนใดซึ่งครอบครัวของพวกเขาได้ครอบครองสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ที่ดินส่วนนั้นๆ พวกเขาก็สามารถนำ “สิทธิในการใช้ที่ดิน” ออกมาขายได้

อย่างไรก็ดี พลเมืองชาวลาวไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเป็นทางการได้ และรัฐบาลสงวนสิทธิที่จะเวนคืนที่ดินได้เมื่อเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ เป็นต้นว่า เพื่อนำเอาที่ดินมาใช้ในโครงการการพัฒนาต่างๆ ของประเทศชาติ

**ภาระของการให้สัมปทาน**

ตามรายงานฉบับหนึ่งที่นำออกเผยแพร่โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ทางการลาวได้มีการลงนามกับนักลงทุนต่างชาติในเรื่องให้เช่าที่ดินและให้สัมปทานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่ดิน รวมทั้งสิ้นกว่า 2,600 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมจำนวนที่ดินราว 1.1 ล้านเฮกตาร์ (6.875 ล้านไร่) หรือคำนวณอย่างหยาบๆ ก็จะเท่ากับประมาณ 5% ของพื้นที่ทั่วประเทศ

รายงานฉบับนี้ระบุว่า หมู่บ้านทุกๆ 1 ใน 5 แห่งในประเทศลาว ต่างได้รับผลกระทบกระเทือนจากการลงทุนของต่างชาติเหล่านี้ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะเป็นพื้นที่มากกว่าเนื้อที่ซึ่งใช้ทำนาดำในลาวด้วยซ้ำ

การให้สัมปทานส่วนมากที่สุดในประเทศนี้ เป็นการอนุญาตให้ทำป่าไม้และทำเหมืองแร่ ซึ่งพวกกลุ่มสิทธิต่างๆ บอกว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างผลเสียหายทางลบให้แก่ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น ที่ต้องพึ่งพาอาศัยที่ดิน, ป่าไม้, และน้ำ เพื่อการครองชีพและความมั่นคงทางอาหารของพวกเขา สัมปทานเหล่านี้ยังก่อให้เกิดกรณีการบังคับขับไล่ให้ออกจากที่ดินและการพิพาทเรื่องค่าชดเชยเป็นจำนวนมาก

สืบเนื่องจากกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลลาวจึงได้สั่งระงับการให้สัมปทานเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ภายหลังจากได้ผ่านกฎหมายแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ดินของประเทศไปเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

ในเบื้องต้น รัฐบาลได้ประกาศขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมจากพวกองค์กรประชาสังคมทั้งหลาย ปรากฏว่าองค์กรเหล่านี้ได้เสนอว่าชาวบ้านควรมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นด้วยหรือคัดค้าน สำหรับโครงการลงทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา รวมทั้งควรต้องได้รับค่าชดเชยเมื่อต้องสูญเสียที่ดินและผลิตผลการเกษตรของพวกเขาไปโดยคำนวณตามราคาตลาด

ต่อมา ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขปรับปรุงนี้จึงได้ถูกส่งไปให้สภาแห่งชาติพิจารณากันตอนประมาณกลางปี 2013 ปรากฏว่าถูกสภาแห่งชาติปฏิเสธ และส่งกลับมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม

ข่าวนี้รายงานโดย อ่อนแก้ว สุกสะหวัน (Ounkeo Souksavanh) ให้วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว(RFA’s Lao Service) แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย อ่อนแก้ว สุกสะหวัน (Ounkeo Souksavanh) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย โจชัว ลิปส์ (Joshua Lipes.)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น