xs
xsm
sm
md
lg

“จรวดส่งเสบียง” บึ้มขณะขึ้นจากฐาน คาดสะเทือนแผน “นาซา” จ้าง บ.เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - จรวดขนส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนอเมริกัน ได้เกิดระเบิดเมื่อคืนวันอังคาร (28 ต.ค.) หลังปล่อยขึ้นจากฐานส่งในมลรัฐเวอร์จิเนียไม่กี่วินาที โดยที่ภายในจรวดไม่ได้บรรทุกคน ขณะที่สะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้มีผู้ใดบาดเจ็บ อย่างไรก็ดี คาดกันว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่องค์การนาซาหันไปพึ่งพาอาศัยบริษัทเอกชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความกังวลรอบใหม่เกี่ยวกับการใช้เครื่องยนต์ของรัสเซียในจรวด “เมดอินยูเอสเอ”

ในปีหลังๆ นี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ว่าจ้าง ออร์บิทัล ไซนส์ และ สเปซเอ็กซ์ ให้ส่งสัมภาระให้แก่สถานีอวกาศนานาชาติ อีกทั้งยังวางแผนพึ่งพิง สเปซเอ็กซ์ และ โบอิ้ง ในการนำนักบินอวกาศอเมริกันขึ้นไปยังสถานีอวกาศ โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะเริ่มภารกิจนี้ได้ในปี 2017 สำหรับจรวดที่เกิดการระเบิดคราวนี้ เป็นจรวดแบบแอนทาเรส ซึ่งนำมาใช้ในภารกิจคราวนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดย 4 ครั้งแรกประสบความสำเร็จด้วยดี

รายงานข่าวระบุว่า จรวดแอนทาเรสที่สร้างและปล่อยขึ้นสู่วงโคจรโดย ออร์บิทัล ไซนส์ ได้ระเบิดเหนือศูนย์อำนวยการบินวัลลอปส์ ในเวลา 22.22 น. ของวันอังคาร (ตรงกับเวลาไทย 05.22 น. วันพุธ) อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และดูเหมือนความเสียหายภาคพื้นดินจำกัดอยู่เฉพาะที่ฐานส่งจรวดเท่านั้น

มิเชลล์ เมอร์ฟีย์ เจ้าของโรงแรมการ์เด้น แอนด์ ซี อินน์ ในเมืองนิวเชิร์ช รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งตั้งห่างจากฐานปล่อยจรวดประมาณ 26 กิโลเมตร เล่าว่า ได้ยินเสียงระเบิดสองครั้ง และรู้สึกว่าอาคารสะเทือนเหมือนเกิดแผ่นดินไหว

จรวดแอนทาเรสลำนี้ บรรทุกยานซิกนัส ที่ลำเลียงอาหารและอุปกรณ์ของนาซาหนัก 5,000 ปอนด์ ขึ้นไปส่งยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมี 15 ชาติร่วมเป็นเจ้าของและดำเนินการ และโคจรอยู่เหนือโลกราว 418 กิโลเมตร

หลังจากแอนทาเรสระเบิดไม่กี่ชั่วโมง ยานขนส่งสัมภาระอีกลำคือยาน”โปรเกรส” ไร้คนขับของรัสเซีย ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จโดยส่งขึ้นไปจากไบโคนูร์ คอสโมโดรม ในคาซัคสถาน ตามกำหนดการที่วางกันไว้ก่อนนานแล้ว

หน่วยงานอวกาศของรัสเซียระบุว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือในการส่งสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หากนาซาต้องการ ทว่า ยังไม่ได้รับการร้องขอแต่อย่างใด
ภาพต่อเนื่องที่ได้จากองค์การนาซา แสดงให้เห็นจรวดแอนทาเรส กำลังระเบิดเกิดไฟลุกไหม้ เพียงไม่กี่วินาทีหลังทะยานขึ้นจากฐานส่งทางการผลิตบนเกาะวัลลอปส์ รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อคืนวันอังคาร (28)
ทางด้านไมค์ ซัฟเฟรดินี ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศของนาซาแถลงว่า สถานีอวกาศนานาชาติและนักบินอวกาศ 6 คนบนสถานีอวกาศ ซึ่งประกอบด้วยนักบินอวกาศของนาซา 2 คน, สำนักงานอวกาศยุโรป 1 คน และรัสเซีย 3 คน มีเสบียงเพียงพอสำหรับ 5 เดือน ดังนั้น อุบัติเหตุครั้งนี้จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาเร่งด่วนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในบรรดาอุปกรณ์ที่สูญเสียไปในครั้งนี้รวมถึงอุปกรณ์ติดตามอุกกาบาต 1 เครื่อง, ดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก 32 ดวง เป็นต้น

แฟรงค์ คับเบิร์ตสัน รองประธานบริหารออร์บิทัล ไซนส์ แถลงว่า ความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 10-12 วินาทีที่ปล่อยจรวดและจบลงภายใน 20 วินาที เมื่อซากจรวดที่ระเบิดกระจายลงจากฟ้า

การส่งยานขนสัมภาระที่ประสบเหตุนี้ นับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ในการปล่อยยาน โดยในครั้งแรกคือเมื่อค่ำวันจันทร์ (27) นั้น ต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีเรือใบลำหนึ่งแล่นอยู่ในเขตอันตราย และไม่สามารถติดต่อเพื่อให้ออกไปจากบริเวณดังกล่าวได้

คัลเบิร์ตสันบอกว่า สำหรับในตอนนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการซ่อมฐานส่งจรวดโดยเร็วและปลอดภัยที่สุด เขายอมรับว่า ไม่สามารถระบุได้ว่า ต้องใช้เวลานานเท่าใดในการหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้และในการซ่อมฐานปล่อยจรวด และเผยว่า บริษัททำประกันภัยภารกิจนี้ไว้ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมค่าซ่อมแซม

คัลเบอร์สันยังขอร้องไม่ให้ประชาชนสัมผัสซากจรวดหรือยานที่อาจตกลงในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือลอยเกยหาด เนื่องจากอาจมีอันตรายได้

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามรอบใหม่เกี่ยวกับการใช้เครื่องยนต์รัสเซียในจรวดที่ผลิตในอเมริกา หลังจากที่เครื่องยนต์เอเจ-26 ที่ผลิตโดยแอโรเจ็ต ร็อคเก็ตไดน์ ของรัสเซีย และใช้ในแอนทาเรส เคยระเบิดระหว่างการทดสอบภาคพื้นดินที่ศูนย์อวกาศสเตนนิสของนาซาในรัฐมิสซิสซิปปี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ ทั้งออร์บิทัล ไซนส์และแอโรเจ็ตยังไม่ได้เปิดเผยสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ล้มเหลวแต่อย่างใด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัลเบิร์ตสันย้ำว่า ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่า สาเหตุมาจากเครื่องยนต์ที่ผลิตในรัสเซียและถูกดัดแปลงมาใช้กับจรวดแอนทาเรสหรือไม่

จอห์น ลอจด์สัน อดีตผู้อำนวยการนโยบายอวกาศ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน แสดงความเห็นว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนการของนาซาในการใช้จรวดและยานจากภาคเอกชน แต่อาจทำให้ธุรกิจของออร์บิทัล ไซนส์สะดุด เนื่องจากมีฐานปล่อยจรวดเพียงแห่งเดียว และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หุ้นของบริษัทแห่งนี้ตกกราวรูดกว่า 15% จากเหตุการณ์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น