xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.หญิง “บราซิล” รักษาเก้าอี้ไว้ได้ สัญญาปรองดอง-ฟื้น ศก.-ปราบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ดิลมา รุสเซฟ ประธานาธิบดีหญิงของบราซิล ประกาศสร้างความปรองดอง ฟื้นเศรษฐกิจ และต่อสู้คอร์รัปชั่น หลังได้รับชนะอย่างหวุดหวิดในการเลือกตั้งรอบตัดสินเมื่อวันอาทิตย์ (26 ต.ค.) รั้งตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สองได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ชัยชนะครั้งนี้ยังบ่งชี้ว่า บราซิลกับอเมริกาจะยังปีนเกลียวกันต่อไป

รุสเซฟ ผู้นำหญิงคนแรกของประเทศเศรษฐกิจอันดับ 7 ของโลกแห่งนี้ ได้คะแนนเสียง 51.6% ขณะที่อาเอซิโอ เนเวส ผู้สมัครที่เป็นที่ชื่นชอบของภาคธุรกิจ ได้ไป 48.4% ในการเลือกตั้งรอบสองคราวนี้ ทั้งนี้หลังจากรอบแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนถึง 50% จึงต้องนำเอาผู้ที่มีคะแนนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 มาแข่งขันกันในรอบตัดสิน การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าผลออกมาคู่คี่จนต้องลุ้นกันเหนื่อยที่สุด นับแต่บราซิลคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1985

หลังจากการหาเสียงอันเผ็ดร้อนซึ่งเพิ่มความร้าวฉานให้แก่แดนแซมบ้า ในระหว่างกลุ่มคนจนทางภาคเหนือกับคนรวยภาคใต้ รุสเซฟสามารถโน้มน้าวชนชั้นกลางในเขตอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ได้มากพอ จึงคว้าชัยชนะครั้งที่ 4 ติดกันให้แก่พรรคเวิร์คเกอร์ ปาร์ตี้ (พีที) ของเธอ

อย่างไรก็ดี รุสเซฟ ที่จะเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองในวันที่ 1 มกราคม 2015 จะต้องเผชิญความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การปกครองประเทศที่เกิดความแตกแยกแบ่งขั้ว, การฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดและในหมู่นักลงทุน, การกระตุ้นพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตเพียง 1% ในปีนี้, และการจัดการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ในระหว่างการปราศรัยฉลองชัยชนะเมื่อคืนวันอาทิตย์ อดีตสมาชิกหญิงของกองโจรฝ่ายซ้ายวัย 66 ปีผู้เคยติดคุกและถูกทรมานระหว่างการต่อสู้กับระบอบเผด็จการในปี 1964-1985 ผู้นี้ เรียกร้องให้ประชาชนสมานฉันท์ พร้อมให้คำมั่นจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงตามที่ประชาชนต้องการ และทำหน้าที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

“ประธานาธิบดีคนนี้เปิดกว้างสำหรับการสนทนาหารือกัน นี่คือเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดของสมัยที่สองของดิฉัน” เธอบอกกับบรรดาผู้สนับสนุนในเมืองหลวงบราซิเลีย โดยที่มี ลุยส์ อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา ประธานาธิบดี 2 สมัยคนก่อนหน้าเธอ ยืนอยู่เคียงข้าง

ด้าน เนเวส คู่แข่งขันในรอบสองของเธอ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิกและอดีตผู้ว่าการรัฐมีนัสเชไรส์ วัย 54 ปี แสดงความยินดีต่อรุสเซฟและขานรับว่า ความสมานฉันท์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบราซิล

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันระหว่างคำสัญญาที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเนเวส กับโครงการทางสังคมซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลพีทีที่ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานมาถึง 12 ปีนับแต่สมัยของประธานาธิบดี “ลูลา” โดยได้ช่วยชาวบราซิล 40 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน ตลอดจนผลักดันขึ้นค่าแรง และลดอัตราว่างงานสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.9%
ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ของบราซิล (ซ้าย) และอดีตประธานาธิบดี ลุยส์ อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา  (ขวา) พากันชูมือเฉลิมฉลองระหว่างการแถลงข่าว ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองในวันอาทิตย์ (26) ออกมาว่า รุสเซฟได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย
กระนั้น แนวโน้มอนาคตของบราซิลกลับมืดมนลง นับจากรุสเซฟชนะการเลือกตั้งสมัยแรกในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่อัตราเติบโตขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 7.5% โดยที่ในปีนี้ เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินเฟ้อพุ่งสูง ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่น บริการสาธารณะด้อยประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายมโหฬารในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

แดเนียล บาร์เซลอส วาร์กัส นักวิเคราะห์การเมืองจากมูลนิธิกีตูลิโอ วาร์กัส ชี้ว่า ความท้าทายใหญ่หลวงที่รุสเซฟจะต้องเผชิญในอีก 4 ปีข้างหน้าคือ การสร้างความสมานฉันท์ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ปรับปรุงบริการสาธารณะ และฟื้นการเติบโต

ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ สื่อบราซิลรายงานโดยอ้างข้อมูลรั่วไหลจากการให้ปากคำของอดีตผู้บริหาร “ปิโตรบาส” รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของบราซิล ในเรื่องอันเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการติดสินบนพรรคพีที ทั้งนี้นิตยสารฉบับหนึ่งถึงกับรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยอีกคนบอกกับอัยการว่า รุสเซฟรู้เรื่องไม่ชอบมาพากลดังกล่าวดี ทว่า ตัวประธานาธิบดีเองยังคงปฏิเสธเสียงแข็ง

ในการเลือกตั้งรอบแรก รุสเซฟที่มีชื่อเสียงเรื่องควาแข็งกร้าวและการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อยที่สุดในนโยบายใดๆ ก็ตาม นอกจากต้องรณรงค์กับเนวาสแล้ว ยังต้องขับเคี่ยวกับ มาเรียนา ซิลวา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ชื่นชอบของคนมากมาย และรุสเซฟแม้ยังสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ทว่าได้คะแนนไม่ถึง 50% ขณะที่เนเวสได้ที่ 2 และซิลวาเป็นอันดับ 3 แล้วระหว่างการหาเสียงรอบสอง ซิลวาประกาศสนับสนุนเนเวส จึงทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้งรอบสองนี้ รุสเซฟตกเป็นรองวุฒิสมาชิกผู้นี้

รุสเซฟพยายามตีตื้นด้วยการกล่าวหาเนเวสเล่นพรรคเล่นพวก และหยิบยกอ้างอิงรายงานข่าวที่ว่า เขาเคยทุบตีแฟนสาวในที่สาธารณะ ทำให้เนเวสต้องตอบโต้ด้วยการกล่าวหารุสเซฟโกหกและสมรู้ร่วมคิดในกรณีติดสินบนของปิโตรบาส

มาร์โค แอนโตนิโอ ไทเซียรา นักวิเคราะห์การเมืองอีกคนจากมูลนิธิกีตูลิโอ วาร์กัส แสดงความเห็นว่า นอกจากข้อกล่าวหาทุจริตแล้ว รุสเซฟยังต้องพยายามฟื้นความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุน หลังจากก่อนหน้านี้ทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินเรียลต่างตกลงทุกครั้งที่ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ประธานาธิบดีหญิงมีคะแนนนำคู่แข่งในระหว่างหาเสียง

รุสเซฟนั้นประกาศแล้วว่า จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง นักลงทุนจึงพากันจับตาว่า เธอจะเสนอชื่อใครมาแทนกิโด แมนเตกา

นอกจากนั้น ผู้สังเกตการณ์บางคนยังมองว่า ชัยชนะของรุสเซฟถือเป็นความพ่ายแพ้สำคัญสำหรับพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมในละตินอเมริกา และยังเท่ากับว่า ความสัมพันธ์บราซิล-สหรัฐฯ จะยังไม่มีอะไรดีขึ้น หลังจากมีข้อพิพาททางการค้ากันมาหลายปี ซ้ำร้ายรุสเซฟยังไม่พอใจมากเรื่องที่อเมริกาแอบสอดแนมรัฐบาลของเธอ ทั้งนี้ตามข้อมูลลับที่เอดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาแฉ
กำลังโหลดความคิดเห็น