เอเอฟพี - มีการรายงานข้อมูลในวันนี้ (26 ต.ค.) ว่าบรรดาธนาคารที่ถูกตรวจสอบสถานภาพทางการเงินโดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีเกือบ 1 ใน 5 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ แต่ไม่มีธนาคารรายใหญ่ๆ อยู่ในกลุ่มผลประกอบการแย่
การตรวจสอบบัญชีครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่การป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน ไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก เป้าหมายดังกล่าวดูจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อได้เห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เริ่มโซเซจวนเจียนจะล้มอีกครั้ง
หลายฝ่ายเกรงว่าภาวะฝืดเคือง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังจะหยุดนิ่งในประเทศสำคัญๆ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแม้กระทั่งเยอรมันที่ทำได้ดีในเรื่องของการส่งออก แต่ก็เติบโตช้าในแง่ของการลงทุน
"การตรวจเข้มแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยธนาคารที่มีตำแหน่งใหญ่โตที่สุดจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับสาธารณชน ที่มีต่อหมวดธุรกิจภาคธนาคาร" วีเตอร์ คอนสแตนซิโอ รองประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าว
เขาระบุอีกว่า การตรวจสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้การปล่อยสินเชื่อในยุโรปทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งมันจะช่วยส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
รายงานของธนาคารกลางยุโรป ระบุว่า ธนาคาร 25 แห่งจากทั้งหมด 130 แห่งในยูโรโซนไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบครั้งนี้ อาการหนักที่สุดอยู่ในอิตาลี มีธนาคารถึง 9 แห่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ขณะที่ในกรีซและไซปรัส มีธนาคารไม่ผ่านเกณฑ์ประเทศละ 3 แห่ง
ธนาคารที่กำลังย่ำแย่เหล่านั้น มียอดขาดทุนรวมกันสูงถึง 25 พันล้านยูโร (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) เมื่อถึงช่วงสิ้นปี 2013 อย่างไรก็ตามมีธนาคาร 12 แห่งจากในกลุ่มนี้ ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการเพิ่มทุน 15 พันล้านยูโร (ประมาณ 6 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ บรรดาธนาคารที่ประสบภาวะขาดทุนจะต้องเตรียมแผนให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ แล้วมีเวลา 9 เดือนที่จะจัดการกับช่องโหว่เหล่านี้
ธนาคารกลางยุโรปยังได้ตรวจสอบทรัพย์สินของธนาคารเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการประเมินมูลค่าอย่างเหมาะสม ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมกันสูงถึง 136 พันล้านยูโร (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท)