รอยเตอร์ - ผู้ว่าการรัฐอะแลสกาลงนามในกฎหมายรับรองให้ 20 ภาษาชนพื้นเมืองเป็นภาษาทางการควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ เมื่อวานนี้ (23 ต.ค.) ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์เชิงสัญลักษณ์ที่ช่วยส่งเสริมความพยายามของชนเผ่าต่างๆ ที่จะอนุรักษ์ภาษาของคนพื้นเมืองไว้ไม่ให้สูญสลายไปตามกาลเวลา
อะแลสกากลายเป็นรัฐที่ 2 ถัดจากฮาวายที่ออกกฎหมายรับรองการใช้ภาษาถิ่น ทว่าภาษาอังกฤษก็ยังคงเป็นภาษาราชการหลัก และหน่วยงานของรัฐก็ไม่ถูกบังคับให้ต้องติดต่อราชการด้วยภาษาอื่นๆ
“วัยรุ่นและนักเรียนชาวพื้นเมืองในอะแลสกาประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมในการคงไว้ซึ่งภาษาถิ่นของพวกเขา... กฎหมายฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะรับรองสถานะของภาษาพื้นเมือง ซึ่งมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา” ฌอน พาร์เนลล์ ผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน ระบุในถ้อยแถลง
ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกลงนามที่เมืองแองเคอเรจ ระหว่างพิธีเปิดการประชุมสมาพันธ์ชนพื้นเมืองแห่งรัฐอะแลสกา ซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีของชนพื้นเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัฐนี้
แลนซ์ ทวิตเชลล์ อาจารย์ด้านภาษาพื้นเมืองจากมหาวิทยาลัย อะแลสกา เซาท์อีสต์ ในเมืองจูโน ชี้ว่า ถึงอย่างไรเสียกฎหมายฉบับนี้ก็มีนัยยะสำคัญ แม้จะในเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม โดยยกตัวอย่างว่า “สัญลักษณ์ต่างๆ ล้วนมีความสำคัญ... ไม้กางเขนก็เป็นสัญลักษณ์ ธงชาติอเมริกันก็เป็นสัญลักษณ์” ดังนั้น การรับรองสถานะของภาษาใดภาษาหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่ามันมีความสำคัญ
ประชากรที่พูดภาษาพื้นเมืองในรัฐอะแลสกาลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้พูด หรือในบางท้องถิ่นผู้พูดอาจจะถูก “ลงโทษ” ด้วยซ้ำ
บางภาษาเหลือผู้ที่พูดได้คล่องแคล่วเพียงไม่กี่สิบราย
เมื่อปี 2008 ภาษาเอยัค (Eyak) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาพื้นเมืองของรัฐอะแลสกาได้สูญสิ้นไปจากโลกพร้อมกับความตายของ มารี สมิธ ซึ่งเป็นพลเมืองคนสุดท้ายที่ใช้ภาษานี้อย่างคล่องแคล่ว