เอเอฟพี - เหล่านักบินลุฟต์ฮันซาที่ผละงานมาตั้งแต่วันจันทร์(20ต.ค.) ได้ขยายขอบเขตการประท้วงครอบคลุมถึงเที่ยวบินทางไกลในวันอังคาร(21ต.ค.) ส่งผลต้องงดให้บริการเที่ยวบินขาเข้าและขาออกเกือบทั้งหมด ณ ท่าอากาศยานแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนี ที่ปกติแล้วจะคราคร่ำไปด้วยผู้โดยสาร
ในการประท้วงครั้งที่ 9 ของเหล่านักบินลุฟต์ฮันซา นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา สายการบินแห่งชาติเยอรมนีแห่งนี้ เผยว่าทางบริษัทต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด 1,511 เที่ยวในช่วง 2 วันของการผละงานที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารราว 166,000 คน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ท่าอากาศยานพลุกพล่านที่สุดของเยอรมนี ค่อนข้างที่จะสงบ สืบเนื่องจากผู้โดยสารราว 90,000 คนได้รับการแจ้งเตือนผ่านอีเมล์และข้อความทางโทรศัพท์มือถือล่วงหน้าแล้ว โฆษกของลุฟต์ฮันซาระบุ
การประท้วงเริ่มต้นตอนเวลา 11.00จีเอ็มทีของวันจันทร์(ตรงกับเมืองไทย 18.00 น.) โดยเบื้องต้นส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินระยะสั้นและเที่ยวบินระยะกลางเท่านั้น อย่างไรก็ตามเหล่านักบินได้ขยายขอบเขตการประท้วงสู่เที่ยวบินระยะไกลในวันอังคาร(21ต.ค.) เริ่มเวลา 04.00 จีเอ็มที(ตรงกับเมืองไทย 11.00น.) และมีกำหนดสิ้นสุดตอนเวลา 21.59 จีเอ็มทีของวันอังคาร(ตรงกับเมืองไทย 04.59น.เช้าวันพุธ)
ฝ่ายบริหารของสายการบินร้องขอให้ศาลแรงงานท้องถิ่นออกคำสั่งห้ามพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้ โดยอ้างว่ามันผิดกฎหมาย แต่ศาลปฏิเสธคำร้องของลุฟต์ฮันซา
เหล่านักบินพยายามเรียกร้องให้สายการบินเยอรมันคงนโยบายเรื่องเกษียณก่อนกำหนดไว้ตามเดิม ขณะที่ฝ่ายบริหารจัดการของลุฟต์ฮันซา ประสงค์เพิ่มอายุขั้นต่ำในการเกษียณก่อนกำหนด เพื่อลดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน นักบินของลุฟต์ฮันซา ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการเกษียณก่อนกำหนดที่อายุ 55 ปี และยังได้รับค่าตอบแทน 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนจนกว่าจะถึงอายุเกษียณตามกฎหมาย
นอกจากการผละงานของนักบินลุฟต์ฮันซาแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหล่านักเดินทางในเยอรมนียังต้องเผชิญกับการประท้วงของคนขับรถไฟอีกต่างหาก ทำเอานายอเล็กซานเดอร์ ดอบรินด์ต รัฐมนตรีคมนาคมถึงขั้นคร่ำครวญผ่านหนังสือพิมพ์ดัง "บิลด์" ว่าการประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่ากำลังก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ