เอเอฟพี - อินเดียประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในวันนี้ (17 ต.ค.) กับการทดลองยิงขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ และทำขึ้นเองภายในประเทศ นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาศักยภาพในการป้องกันประเทศ
สำนักข่าว เพรส ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า การทดลองยิงขีปนาวุธร่อน "เนียเบย์" ครั้งนี้ มีขึ้นในรัฐโอริสสา ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย
"การทดลองประสบความสำเร็จด้วยดี" เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดลองยิงครั้งนี้ บอกกับสื่ออินเดีย โดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อ
เนียเบย์ ต่างจากขีปนาวุธอื่นๆ ตรงที่มีปีกและครีบหางหลายอัน สามารถร่อนไปในอากาศได้แบบเดียวกับเครื่องบินเพราะครีบเล็กๆ เหล่านั้น ทั้งยังสามารถยิงได้จากภาคพื้นดิน ในทะเล รวมถึงบนอากาศ
ขีปนาวุธจากพื้นดินสู่พื้นดินลูกนี้ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต ทำให้สามารถร่อนไปได้ในความสูงระดับต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ ทั้งยังสามารถลอยค้างอยู่ในอากาศใกล้กับเป้าหมาย แล้วโจมตีจากทิศทางใดก็ได้โดยที่ไม่ถูกพบเห็นในจอเรดาห์
สถานีโทรทัศน์ เอ็นดีทีวี รายงานว่า ด้วยพิสัยยิงที่ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ทำให้อินเดียมีศักยภาพในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของศัตรูได้
เนียเบย์ ได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร ว่าเป็นเหมือน "โทมาฮอว์ค" ของอเมริกา ในแบบเวอร์ชั่นอินเดีย
อินเดียเคยทดสอบยิง "เนียเบย์" ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2013 แล้วต้องยกเลิกกลางคัน เพราะขีปนาวุธพุ่งออกนอกเส้นทาง
ชายแดนของอินเดียนั้นติดกับปากีสถานและจีน ซึ่งทั้งสองชาติล้วนครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อินเดียต้องเร่งพัฒนาระบบขีปนาวุธเพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันทางอากาศ
ก่อนหน้านี้ อินเดียก็มีขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง "บราห์มอส" ที่พัฒนาร่วมกันกับทางรัสเซีย เก็บไว้ในคลังแสงอยู่แล้ว นอกจากนี้เมื่อปี 2012 อินเดียยังประสบความสำเร็จในการยิงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ "อัคนี 5" ที่มีพิสัยไกลถึง 5,000 กิโลเมตร
กองทัพอินเดียมองว่าขีปนาวุธ อัคนี 5 คือกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มอำนาจในภูมิภาค ทั้งยังช่วยลดความห่างชั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบขีปนาวุธที่มีกับจีน
ขีปนาวุธพิสัยใกล้ "อัคนี 1" และ "อัคนี 2" ของอินเดียนั้น นั้นถูกมองว่าพัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายเป็นปากีสถาน ขณะที่รุ่นหลังๆ อย่างอัคนี 5 ที่มีพิสัยไกลกว่า สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพอินเดียนั้นมุ่งเป้าไปที่จีน
เมื่อเดือนที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอินเดียตกเป็นข่าวใหญ่โต สำหรับชัยชนะที่มีเหนือชาติอื่นในเอเชีย ด้วยการส่งยานอวกาศไร้คนขับเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ หลังจากใช้เวลาเดินทางนาน 10 เดือน ด้วยงบประมาณที่น้อยนิด