เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รายงานล่าสุดชี้ “บุรุนดี” รั้งตำแหน่งประเทศที่มีผู้คนอดอยากหิวโหยในระดับที่เลวร้ายที่สุดของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ไทยติดโผกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการแก้ปัญหาความอดอยาก ร่วมกับกัมพูชาและเวียดนาม
รายงาน “โกลบัล ฮังเกอร์ อินเด็กซ์” ซึ่งจัดทำโดย “Welthungerhilfe” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศเยอรมนีร่วมกับองค์กร “Concern Worldwide” จากไอร์แลนด์ ที่มีการเผยแพร่ในวันอังคาร (14 ต.ค.) ระบุว่า บุรุนดี อดีตอาณานิคมของเบลเยียมทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นบ้านของประชากรมากกว่า 8.7 ล้านคน ยังคงรั้งตำแหน่งดินแดนที่ประสบปัญหาความอดอยากหิวโหยในระดับที่เลวร้ายที่สุดในโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเอริเทรีย ติมอร์ตะวันออก (ติมอร์เลสเต) และคอโมโรส
รายงานฉบับล่าสุดซึ่งจัดทำออกมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ยังระบุด้วยว่า ในขณะนี้ประชากรโลกราว 805 ล้านคนยังคงประสบภาวะขาดอาหารแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และดินแดนในแอฟริกาส่วนที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราลงไป ซึ่งเป็น 2 ภูมิภาคที่มีระดับความอดอยากเลวร้ายที่สุดในโลก ขณะเดียวกันจำนวนประเทศที่ยังเผชิญปัญหานี้ในระดับรุนแรงยิ่งกว่าเดิมยังมีจำนวนถึง 55 ประเทศ
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ชาด กานา มาลาวี ไนเจอร์ รวันดา อังโกลา และบังกลาเทศ ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการปัญหาความอดอยากหิวโหยของประชากรในประเทศของตนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยพบความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาของประเทศเหล่านี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา
รายงานดังกล่าวซึ่งทำการสำรวจข้อมูลใน “ประเทศกำลังพัฒนา” 120 ประเทศทั่วโลก ใช้เกณฑ์ในการประเมินผล 3 ข้อหลัก คือ สัดส่วนประชากรที่อดอยากได้รับอาหารไม่เพียงพอ สัดส่วนของเด็กเล็กที่น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนถึงวันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม และยังถูกเผยแพร่ออกมาเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organisation : FAO) ออกมาประกาศว่าราคาอาหารทั่วโลกได้ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี