มิซซิมา - สื่อพม่ารายงานเมื่อวันจันทร์ (6 ต.ค.) กลุ่มสิทธิมนุษยชนแรงงานต่างด้าวเผยกำลังปฏิบัติภารกิจเพื่อรับประกันว่าสิทธิของแรงงานชาวพม่า 2 คนที่ถูกกล่าวหาฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย และกฎหมายสากล ระหว่างการไต่สวนและดำเนินคดี พร้อมอ้างคำสัมภาษณ์ของเหล่าเพื่อนคนงานและชาวบ้านไม่เชื่อว่าพวกเขาคือคนลงมือ ท่ามกลางข้อสงสัยจากสื่อไทยและอังกฤษว่างานนี้อาจมี “แพะ”
เว็บไซต์ของ “มิซซิมา” สื่อพม่าพลัดถิ่น รายงานว่า เหตุฆาตกรรม นางสาวฮานนาห์ วิเทอริดจ์ วัย 23 ปี และ นายเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปี บนชายหาดเกาะเต่า ห่างจากกรุงเทพฯไปทางใต้ 410 กิโลเมตร กระตุ้นให้ประเด็นความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวในไทยถูกเพ่งเล็ง และผลการสืบสวนของตำรวจก็ถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามต่อกระบวนการทั้งหลายแหล่
แอนดี ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติในไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านทางอีเมลกับมิซซิมาเมื่อวันอาทิตย์ (5 ต.ค.) ว่า “เราได้ตั้งทีมทนายความอิสระ นักเคลื่อนไหวด้านผู้อพยพ และล่ามภาษาพม่าขึ้นมาสำหรับภารกิจเพื่อรับประกันว่าสิทธิต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทยและกฎหมายสากลระหว่างการสืบสวน”
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษรายนี้ เผยว่า เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีฐานบัญชาการในไทย จะแสวงหาความร่วมมือกับเจ้าหน้าไทย เพื่อเข้าถึงตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองได้แก่นายวินและนายซอ เพื่อสอบถามถึงแนวทางที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติทั้งที่ผ่านมา และปัจจุบันจากเจ้าหน้าที่ไทย เช่นเดียวกับเพื่อรับประกันว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนเข้าใจถึงสิทธิโดยสมบูรณ์ของตนเองในฐานะผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายไทย
“ทีมงานได้ลงพื้นที่และเริ่มทำงานแล้ว ภารกิจของเราคือแสวงหาความร่วมมือที่จำเป็น ในนั้นรวมถึงสถานทูตพม่าและสถานทูตอังกฤษด้วย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ ก็คือ ภารกิจนี้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากรัฐบาลใดๆ หรือเจ้าหน้าที่ของไทย” นายฮอลล์ระบุ
รายงานของมิซซิมาเผยต่อว่าแรงงานต่างด้าวชาวพม่าบางส่วนบนเกาะเต่า ไม่เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 เป็นคนลงมือก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ พร้อมตั้งสังเกตว่าในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ต้องสงสัยมีท่าทางงกๆเงิ่นๆ ระหว่างย้อนรอยวินาทีฆาตกรรม ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนบอกว่าเกาะนี้เล็กมากจนยากจะปกปิดความจริง
เจ้าหน้าที่ของไทยก็สอบปากคำแรงงานชาวพม่าทุกคนบนเกาะหนึ่งวันหลังเกิดเหตุฆาตกรรม และประเด็นนี้ได้กระตุ้นข้อสงสัยแก่ชาวบ้านด้วยเช่นกัน “หลังก่อเหตุฆาตกรรมแล้ว พวกมือสังหารตัวจริงคงไม่อยู่บนเกาะหรอก” พนักงานเสิร์ฟของร้านอาหารแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับมิซซิมา อ้างถึงกรณีที่ผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนไม่ได้หลบหนี
เว็บไซต์ของ “มิซซิมา” รายงานต่อไปว่าตำรวจไทยบอกว่าแรงงานทั้ง 2 คนสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือฆ่า 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ และยืนยันว่า ตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยตรงกับที่เก็บได้บนศพเหยื่อ นอกจากนี้แล้วเมื่อวันอาทิตย์ (5 ต.ค.) ตำรวจเผยว่าพบโทรศัพท์ของนายมิลเลอร์ได้ระหว่างตรวจค้นห้องพักของผู้ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม มิซซิมา ระบุว่า มีข้อสงสัยต่างๆ นานา กระพือบนโลกออนไลน์ พราะว่ามีรูปถ่ายปรากฏบนโลกออนไลน์ว่าเพื่อนของนางสาววิเทอริดจ์ นำโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งระหว่างการสืบสวนก่อนหน้านี้แล้ว
มิซซามา รายงานโดยอ้างสื่อมวลชนไทยและอังกฤษ ระบุว่า พวกนักวิจารณ์ต้องการการสืบสวนที่ชัดเจน และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการสืบสวนอย่างบุ่มบ่าม พร้อมตั้งข้อสงสัยว่างานนี้อาจมีแพะ อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องสงสัยถูกพบว่ามีความผิดจริง โทษสูงสุดอาจถึงขั้นประหารชีวิต