เอพี - ดัชนีโลกซึ่งสะท้อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และปัจจัยอื่นๆ แต่ไม่ได้หักลบความเย็นยะเยือกในฤดูหนาวชี้ว่า นอร์เวย์ คือประเทศที่ครองตำแหน่งแชมป์ในการจัดอันดับประเทศที่ผู้สูงวัยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีที่สุด จากทั้งหมด 96 ชาติ ตามมาด้วยแชมป์เก่าอย่างสวีเดนที่ขยับลงมาอยู่อันดับ 2 ขณะที่อัฟกานิสถานรั้งอันดับท้ายสุด
ดัชนี “โกลบอล เอจวอทช์ อินเด็กซ์” ซึ่งเผยแพร่วานนี้ (30 ก.ย.) รวบรวมโดยองค์การไม่แสวงหาผลกำไร “เฮลป์เอจ อินเตอร์เนชันแนล” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน และมีเครือข่ายใน 65 ประเทศ โดยมีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้สูงอายุต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ และความยากจน เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่มั่นคงและแข็งแรง
ตัวชี้วัด 13 ประการที่ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อจัดอันดับนั้นมีดังเช่น อายุขัย โครงการเงินบำนาญสำหรับผู้สูงวัย ระบบขนส่งสาธารณะ และอัตราความยากจนในหมู่ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ขณะที่อีกหลายสิบประเภทที่ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดอันดับครั้งนี้เนื่องจากขาดข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้บางประการ แต่เฮลป์เอจชี้ว่า ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในการจัดอันดับนั้นเป็นบ้านของประชากรโลกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์
สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และเยอรมนี ก็ติดโผ 5 อันดับแรกของประเทศที่มีสวัสดิการคุ้มครองผู้สูงวัยดีเยี่ยมที่สุด ขณะที่สหรัฐฯ ครองอันดับ 8 ตามมาด้วยญี่ปุ่นอันดับ 9 และไทยอันดับ 36 ส่วนจีนอยู่ที่อันดับ 48 รัสเซียอันดับ 65 และอินเดียอันดับที่ 69
ตามข้อมูลของเฮลป์เอจ ตอนนี้โลกเรามีประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีถึงราว 868 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก แต่คาดว่าจะขยับขึ้นสู่ 2.02 พันล้านคน ซึ่งจะคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกภายในปี 2050 นอกจากนี้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในหลายสิบชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกจะพุ่งทะลุร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
เฮลป์เอจ ได้เริ่มจัดอันดับความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยในแต่ละประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013 และพบว่า ในปี 2014 มีอีก 5 ประเทศที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับที่นอร์เวย์เข้ามาแทนที่แชมป์เก่าอย่างสวีเดน
ในรายงานฉบับใหม่ซึ่งอุทิศความสนใจพิเศษในประเด็นการจ่ายบำนาญ และบทบาทของเงินบำนาญในการช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ยังสามารถเคลื่อนไหว และพึ่งพาตนเองได้ องค์กรนี้ได้ยกย่องหลายประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา รวมถึง โบลิเวีย เปรู และเม็กซิโก ที่พัฒนาระบบเงินบำนาญให้กว้างขวางขึ้น จนครอบคลุมผู้สูงอายุที่ส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญตอนที่พวกเขายังมีอายุน้อยกว่านี้ โดยรัฐบาลเปรูได้ก่อตั้งโครงการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินอย่างเป็นทางการขึ้นมาเมื่อปี 2011 เพื่อส่งเงินราว 90 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้สูงวัยที่ยากจนข้นแค้นสุดขีดทุก 2 เดือน
เฮลป์เอจระบุว่า มีประชากรโลกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตั้งความหวังว่า ตนจะได้รับเงินบำนาญพื้นฐานในบั้นปลายชีวิต พร้อมทั้งกระตุ้นรัฐบาลของแต่ละประเทศ เร่งเดินหน้าขยายโครงการบำนาญในเวลาที่ประชากรผู้สูงวัยกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เฮลป์เอจได้เปิดเผยการจัดอันดับครั้งนี้ ในวันนี้ (1 ต.ค.) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล โดยหลายสิบประเทศได้วางแผนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการหันมาใส่ใจความต้องการของผู้สูงวัยให้มากขึ้น