รอยเตอร์ - การเหยียดหยามผู้หญิงปากีสถานทางอินเทอร์เน็ตกำลังก่อให้เกิดความรุนแรงต่อพวกเธอในโลกแห่งความเป็นจริง แต่บริษัทสื่อต่างๆ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ กลับเคลื่อนไหวเพื่อยุติสิ่งนี้เชื่องช้าเกินไป กลุ่มสิทธิทางอินเทอร์เน็ต ไบต์ ฟอร์ ออล (Bytes for All) กล่าว
แม้ว่าผู้หญิงทั่วโลกล้วนเผชิญภัยคุกคามทางออนไลน์ แต่สำหรับในปากีสถาน เหล่าสตรีต้องประสบความเสี่ยงเฉพาะตัว โดยประเทศมุสลิมแบบอนุรักษนิยมแห่งนี้มีธรรมเนียมที่ผู้ชายจะสังหารผู้หญิงที่เห็นว่าได้ทำให้เกียรติของครอบครัวด่างพร้อย นอกเหนือไปจากกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดฐานดูหมิ่นศาสนา
ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเกินกว่าจะต่อสู้กับความรุนแรงที่ถูกกระตุ้นผ่านการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์ เหล่านักเคลื่อนไหวจึงต้องการให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตปกป้องผู้ใช้ให้มากกว่านี้ ไล่ตั้งแต่การปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการกับคำร้องเรียนต่างๆ ไปจนถึงการดำเนินการต่อการข่มขู่ใช้ความรุนแรงที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
“เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังช่วยเพิ่มความรุนแรงต่อสตรี ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่สะท้อนความรุนแรงเหล่านี้ออกมาให้เห็นเท่านั้น” กุล บูคารี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไบต์ ฟอร์ ออล และผู้เขียนรายงานที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ชาวปากีสถานกำลังปัญหาประสบกับความเกลียดชังระหว่างนิกายในศาสนา, การโจมตีชนกลุ่มน้อย และการทะเลาะวิวาทเรื่องการสบประมาทหรือดูหมิ่นศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ
“อาชญากรรมจำนวนมากที่เราต่างกำลังเป็นผู้รู้เห็น จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าปราศจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้”
หน่วยงานสอบสวนกลางของปากีสถานระบุว่า ในปีนี้มีการแจ้งความเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ต่อผู้หญิงในแคว้นปัญจาบที่มีประชากรหนานแน่นที่สุดของปากีสถานมากกว่า 170 เรื่อง ขณะที่อีก 3 แคว้นที่เหลือไม่มีตัวเลขที่ใช้อ้างอิงได้
ไม่มีคดีใดที่ดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพราะปกติแล้วผู้หญิงมักเลือกประนีประนอมกับผู้ต้องสงสัย ไซเอ็ด ชาฮิด ฮัสซัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานอาชญากรรมไซเบอร์ในเมืองลาฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นกล่าว
กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ด้วยเหตุที่กรณีผู้หญิงถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ตแทบไม่รับความสนใจทำคดีจากตำรวจเลย จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีเพียงแค่ 2-3 คดีเท่านั้น
กลุ่มไบต์ ฟอร์ ออล กล่าวในรายงานว่า ในจำนวนประชากรปากีสถานทั้งสิ้น 180 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ราว 32 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะใช้บนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สื่อภายในประเทศ ระบุ ราว 12 ล้านคนใช้บนเฟซบุ๊ก และประมาณ 2 ล้านคนใช้ทวิตเตอร์