เอเอฟพี – สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงขอให้พลเมืองสหราชอาณาจักรทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคี “ด้วยจิตใจที่เคารพ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน” ภายหลังชาวสกอตแลนด์ส่วนใหญ่ลงประชามติไม่แยกตัวเป็นเอกราช
สมเด็จพระราชินีนาถซึ่งประทับอยู่ที่พระตำหนักบัลมอรัลด์ในสกอตแลนด์ ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการลงประชามติของชาวสกอตแลนด์ ซึ่งเสี่ยงทำให้สหราชอาณาจักรซึ่งรวมกันมานานถึง 300 ปีต้องแตกสลายในรัชสมัยของพระองค์
“ข้าพเจ้ารู้จักชาวสกอตแลนด์เป็นอย่างดี และไม่สงสัยเลยว่า ชาวสก็อตสามารถแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างชัดเจนและแข็งกร้าว แต่แล้วพวกเขาก็จะกลับมาสามัคคีอีกครั้ง ด้วยจิตใจที่เคารพและสนับสนุนซึ่งกันและกัน” พระราชดำรัสซึ่งแถลงผ่านพระราชวังบักกิงแฮม ระบุ
สมเด็จพระราชินีนาถ พระชนมายุ 88 พรรษา ทรงตระหนักดีว่า “มีความรู้สึกและอารมณ์ที่ขัดแย้ง” เกิดขึ้นหลังการโหวตเมื่อวันพฤหัสบดี(18) ซึ่งได้บทสรุปเป็นความพ่ายแพ้ของพวกที่ต้องการแยกตัวจากสหราชอาณาจักร
“แน่นอน นั่นเป็นธรรมชาติของวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด แต่ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่า อารมณ์เหล่านั้นจะถูกบรรเทาลงด้วยความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น”
พระองค์ตรัสว่า ชาวอังกฤษทุกคน “มีความรักต่อสกอตแลนด์อย่างมั่นคง” ซึ่งช่วยให้สหราชอาณาจักรยังเป็นหนึ่งเดียวอยู่ได้ และทรงวิงวอนให้ทุกฝ่าย “ร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของสกอตแลนด์ และภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศ”
“ครอบครัวของข้าพเจ้าและตัวข้าพเจ้าเองก็จะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนท่านในภาคกิจที่สำคัญนี้” พระราชดำรัสของควีน ระบุ
เป็นที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ทรงเคยแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์เกี่ยวกับการทำประชามติในสกอตแลนด์ นอกจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่พระองค์ได้พระราชทานพร และทรงเตือนให้ประชาชน “คิดให้ถี่ถ้วนเกี่ยวกับอนาคต”
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองอังกฤษหลายคนเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัสบางอย่าง เมื่อผลสำรวจความคิดเห็นพบว่ากระแสสนับสนุนและต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์คู่คี่สูสีอย่างมาก แต่ปรากฏว่าสำนักพระราชวังได้ออกมาตำหนิผู้ที่พยายามดึงพระประมุขลงมายุ่งเกี่ยวการเมือง
“ความเป็นกลางขององค์พระประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่เรายึดถือ และสมเด็จพระราชินีนาถก็ได้ทรงแสดงออกเช่นนั้นมาตลอดรัชกาล ดังนั้น พระองค์จึงทรงอยู่เหนือการเมือง และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีหน้าที่จะต้องรับรองให้เป็นเช่นนั้น” โฆษกพระราชวังบักกิงแฮม แถลง
“การแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงใช้อำนาจแทรกแซงผลประชามติ เป็นความคิดที่ผิดแน่นอน เพราะพระองค์ทรงเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ชาวสกอตแลนด์จะต้องตัดสินใจเอง”