เอเอฟพี - แอฟริกาใต้ปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้ “องค์ทะไลลามะ” ที่จะมาเข้าร่วมการประชุมเวิลด์ซัมมิตของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่นครเคปทาวน์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ตัวแทนของเขาเผยวันพฤหัสบดี (4 ก.ย.)
รัฐบาลแอฟริกาใต้ “โทรศัพท์มาบอกดิฉันว่าพวกเขาไม่สามารถออกวีซ่าด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและแอฟริกาใต้ต้องสั่นคลอน” นังซา โชดอน บอกกับเอเอฟพี
โรเจอร์ ไฟรด์แมน โฆษกของเดสมอนด์ ตูตู อดีตอาร์บิชอปและผู้ได้รับรางวัลโนเบลของแอฟริกาใต้กล่าวเตือนว่า การปฏิเสธครั้งนี้อาจก่อให้เกิดการคว่ำบาตรการประชุมซัมมิทสันติภาพประจำปีครั้งที่ 14
“ผมได้ยินมาว่าแขกคนอื่นๆ ที่ได้รับเชิญบอกว่า ถ้าองค์ทะไลลามะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศนี้ พวกเขาก็จะไม่มาเช่นกัน” ไฟรด์แมนกล่าว
รัฐบาลแอฟริกาใต้ยืนยันว่า พวกเขาได้รับคำร้องขอวีซ่าจากองค์ทะไลลามะจริง แต่ชี้แจงว่ายังไม่มีการตัดสินใจใดๆ”
กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแอฟริกาใต้ แถลงว่า “การยื่นขอดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการตามปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อกับผู้แจ้งความจำนงในภายหลัง” อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพวกเขาเผยว่าองค์ทะไลลามะตัดสินใจยกเลิกการเดินทางแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ศาลสูงของประเทศนี้พบว่า รัฐบาลดำเนินการโดยมิชอบตามกฎหมายด้วยการถ่วงเวลาคำขอวีซาของผู้นำทางจิตวิญญาณพลัดถิ่นของทิเบตผู้นี้จนกระทั่งสายเกินไป
จีน ซึ่งกล่าวหาองค์ทะไลลามะว่าแอบรณรงค์เพื่อเอกราชของทิเบต มักจะใช้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของตนกดดันรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกให้จำกัดการติดต่อกับองค์ทะไลลามะ ขณะที่จีนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนการค้ารายสำคัญของแอฟริกาใต้
การประชุมซัมมิตโนเบลที่นครเคปทาวน์ในเดือนตุลาคมนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของแอฟริกาใต้ 4 คน ประกอบด้วย ตูตู, เนลสัน แมนเดลา, เอฟดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก และอัลเบิร์ต ลูธูลี
นอกเหนือจากผู้เคยได้รับรางวัลชาวแอฟริกาใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ตูตู และเดอ เคลิร์ก ผู้จัดงานประชุมซัมมิตครั้งนี้ระบุว่ายังบุคคลต่างๆ อีก 13 คนและองค์กร 8 กลุ่มที่ยืนยันแล้วว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ในนั้นรวมถึง มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต