เอเอฟพี - นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ และลูกเขยของ การ์โลส สลิม มหาเศรษฐีพันล้านชาวเม็กซิโก ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงเม็กซิโกซิตี ซึ่งใช้งบในการก่อสร้างเฉียด 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทันทีที่สร้างเสร็จ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังคาแก้ว ที่มีรูปทรงคล้ายตัว X ชวนให้นึกถึงนกอินทรีสยายปีกบนผืนธงชาติเม็กซิกัน จะมีรันเวย์ 6 สาย และรองรับผู้โดยสารได้ถึงปีละ 120 ล้านคนต่อปี ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของความจุของท่าอากาศยานในปัจจุบัน
สิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่ จะตั้งอยู่ถัดจากท่าอากาศยานนานาชาติ “เบนิโตฮัวเรซ” ในปัจจุบันที่มีอาคารที่พักผู้โดยสาร 2 หลัง แต่ยังมีเนื้อที่ไม่เพียงพอต่อนักเดินทางที่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของภูมิภาคละตินอเมริกาแห่งนี้
รัฐบาลแดนจังโก้คาดหวังว่า สนามบินแห่งใหม่จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2019 หรือ 2020 โดยมีรันเวย์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 52 ล้านคนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบันที่ 32 ล้านคนต่อปี
ภายใน 50 ปี สนามบินแห่งนี้จะสามารถรองรับนักเดินทางได้ 120 ล้านคน และจะกินพื้นที่ 28,750 ไร่ ทางการเม็กซิโกได้ตัดสินใจทุ่มงบประมาณโครงการเพิ่มจากเดิมที่ประมาณ 9.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.93 แสนล้านบาท) เป็น 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราง 3.11 แสนล้านบาท)
รัฐบาลแดนจังโก้กล่าวว่า เหล่านักวิเคราะห์แผนได้ตัดสินใจเลือกบริษัทของ ฟอสเตอร์ และเฟร์นันโด โรเมโร เพื่อนร่วมงานชาวเม็กซิกันของเขา ซึ่งแต่งงานกับซูมายา ลูกสาวของสลิม ให้เป็นผู้ออกแบบท่าอากาศยานแห่งนี้ ภายหลังขับเคี่ยวกันระหว่างผู้ยื่นประมูลโครงการ 20 คน มานาน 8 เดือน
ประธานาธิบดี เอ็นริเก เปนญา เนียโต แห่งเม็กซิโก ได้เผยโฉมโครงการนี้เป็นครั้งแรกในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบ ลอส ปินอส ของเขา พร้อมกับสถาปนิกที่รับผิดชอบโครงการทั้ง 2 คน
เปนญา เนียโต กล่าวว่า แม้ว่าสนามบินแห่งนี้จะเปิดตัวหลังจากเขาสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งในปี 2018 “แต่การที่เม็กซิโกจะมีท่าอากาศยานระดับโลกถือเป็นเรื่องสำคัญ”
อดีตประธานาธิบดี วินเซนเต ฟ็อกซ์ ได้หาลู่ทางสร้างท่าอาอากาศยานใหม่เมื่อปี 2001 แต่แล้วก็ต้องละทิ้งโครงการไป เมื่อบรรดาชาวสวนชาวไร่พากันรวมตัวประท้วงแผนการเวนคืนที่ดิน แต่โครงการนี้มีแผนจะสร้างสนามบินขึ้นบนที่ดินของรัฐ
ฟอสเตอร์ ซึ่งเคยคว้ารางวัลด้านสถาปัยกรรม “พริทซเกอร์” เมื่อปี 1999 คือผู้ออกแบบท่าอากาศยานฮ่องกง และอาคารที่พักผู้โดยสารที่ 3 ของปักกิ่งที่มีรูปทรงคล้ายกับมังกร
นอกจากนี้ ฟอสเตอร์ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการใช้วัสดุประเภทเหล็กและแก้ว ในงานออกแบบอันหรูหราอลังการ ยังเป็นอยู่เบื้องหลังการสร้างตึกสูงระฟ้า “เกอร์คิน” และการบูรณะซ่อมแซมอาคารสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเบอร์ลิน
ฟอสเตอร์กล่าวว่า สนามบินแห่งใหม่จะ “ไม่เหมือนที่ใดในโลก” พร้อมให้สัญญาว่า จะสร้างสนามบินแห่งนี้ให้มีลักษณะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
บรรดานักเดินทางที่มาถึงท่าอากาศยานแห่งนี้จะได้ชื่นชมความงามของสวนที่รายล้อมไปด้วยต้นแคคตัส และจะมีถนนสายหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้างูที่อยู่ในปากนกอินทรีย์บนผืนธงชาติเม็กซิโก
สนามบินแห่งนี้จะสามารถผลิตพลังงานไว้ใช้เอง พร้อมทั้งมีระบบระบายอากาศที่ดีพร้อมจนแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องทำความร้อน
ฟอสเตอร์บอกว่า “(สนามบินแห่งนี้) จะมีรูปทรง และโครงสร้างที่แตกต่างออกไป จะไม่มีหลังคาแบบทั่วๆ ไป ไม่มีกำแพงแนวตั้ง และไม่มีเสาที่เราเห็นกันดาษดื่น”