เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รัฐบาลภูฏานประกาศในวันจันทร์ (1 ก.ย.) เดินหน้าทดสอบการใช้ “โดรน” เพื่อการขนส่งลำเลียงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นครั้งแรก หวังใช้อากาศยานไร้นักบินประเภทนี้เป็นกุญแจสำคัญ ในการช่วยชีวิตประชาชนในพื้นที่อันห่างไกลของประเทศ ชี้เป็นพระราชดำริของ “กษัตริย์จิกมี”ในการประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการสงครามมาใช้ในเชิงสันติ
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏานระบุว่า รัฐบาลภูฏานภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเชริง ท็อบเกได้เริ่มทดสอบการใช้อากาศยานไร้นักบิน หรือ “โดรน” เพื่อการขนส่งลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ ไปยังพื้นที่ห่างไกลของประเทศเป็นครั้งแรก
การทดสอบใช้โดรนเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการแพทย์ในภูฏานครั้งนี้ถูกระบุว่า เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของราชอาณาจักรมังกรสายฟ้าแห่งนี้กับบริษัท“แม็ทเทอร์เน็ท” จากมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯและเป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกหรือ “กษัตริย์จิกมี” ที่ทรงต้องการนำเอาอากาศยานสงครามประเภทนี้มาประยุกต์ใช้งานในเชิงสันติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชอาณาจักรภูฏาน ดินแดนซึ่งเป็นบ้านของประชากร มากกว่า 742,000 คน
รายงานข่าวระบุว่า โดรนขนาดเล็กที่เข้าร่วมการทดสอบในภูฏานที่ระดับความสูง 2,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในครั้งนี้สามารถลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนวัคซีน รวมถึงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างเลือดได้พร้อมกัน คิดเป็นน้ำหนักรวมสูงถึง 2 กิโลกรัมต่อการบิน 1 ครั้ง และสามารถบินได้ไกลครั้งละประมาณ 10 กิโลเมตรแม้ในสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยทีมวิศวกรของบริษัทแม็ทเทอร์เน็ทให้คำมั่นว่า สามารถปรับปรุงให้โดรนของตนทำการบินได้ไกลขึ้นกว่านี้ได้อีกในอนาคต
ด้านนายกรัฐมนตรีเชริง ท็อบเกแห่งภูฏานออกมาระบุว่า โครงการนำโดรนมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์นี้ ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบเท่านั้น แต่หากผลการทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะมีการดำเนินโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมย้ำว่า การใช้โดรนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อชาวภูฏาน ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลที่ “ถนนเข้าไม่ถึง” และอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในภูฏานมีขึ้นหลังจากในเดือนที่แล้วสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหา “ขาดแคลนแพทย์” ในราชอาณาจักรของพระองค์ หลังมีผลการศึกษาของรัฐบาลที่ระบุว่าในขณะนี้อัตราส่วนของแพทย์ต่อประชากรในภูฏานอยู่ที่เพียง “แพทย์ 3 คนต่อประชากรทุก 10,000 คนเท่านั้น”