xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้ยูเออี “ส่งฝูงบินรบ” ถล่มอิสลามิสต์ในลิเบีย คือสัญญาณชี้ว่า “ทำเองได้ไม่ต้องพึ่งมะกัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากสิ่งปลูกสร้างที่ตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศเมื่อรุ่งเช้าวันพุธ (27 ส.ค.) ในบริเวณใกล้ค่ายทหาร เมืองเบงกาซี ทางภาคตะวันออกของลิเบีย
เอเอฟพี - เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นกันว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตัดสินใจโจมตีทางอากาศโดยมุ่งป้องกันไม่ให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์แผ่อิทธิพลครอบงำลิเบียที่กำลังบอบช้ำจากเหตุไม่สงบ และขณะเดียวกันยังเป็นการส่งสัญญาณถึงวอชิงตันว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้

เจ้าหน้าที่อเมริกัน 2 คนกล่าวว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลอบส่งฝูงบินรบออกจากฐานทัพอากาศในอียิปต์ เพื่อถล่มกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ในลิเบีย แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า ตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการดังกล่าว ทางด้านอียิปต์ (วานนี้ 26) ก็ได้ออกมาปัดว่า ไม่ได้มีบทบาท “โดยตรง” ในการภารกิจโจมตีกวาดล้าง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่กบฏลุกฮือขึ้นโค่นล้มอำนาจอดีตผู้นำเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ปกครองประเทศมาเนิ่นนานเมื่อปี 2011 สถานการณ์ในลิเบียก็ระส่ำระสายมาตลอด โดยเกิดเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ กับกองกำลังชาตินิยมอยู่เป็นระลอกๆ

เมื่อวันจันทร์ (25) วิกฤตความขัดแย้งยิ่งทวีความเลวร้าย เมื่อสภาแห่งชาติลิเบียซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มอิสลามิสต์ได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลไว้ต่อกรกับรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งกำลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อคืนความสงบให้แก่ประเทศ

เจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งสองยืนยันว่า ในช่วงเวลา 7 วัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ส่งฝูงบินไอพ่นโจมตีกวาดล้างกลุ่มอิสลามิสต์สองระลอก ซึ่งนับเป็นการรุกคืบเข้าสู่สมรภูมิด้วยตัวเอง ภายหลังก่อนหน้านี้เพียงแต่คอยสนับสนุนรัฐบาลลิเบีย ซีเรีย และอิรัก ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจและอิทธิพล

อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงร่วมกัน โดยระบุว่า “การที่ต่างชาติเข้าแทรกแซงปัญหาของลิเบียจะยิ่งทำให้ความแตกแยกในปัจจุบันทวีความเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม และบ่อนทำลายกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในลิเบีย”
(แฟ้มภาพ) เพลิงลุกไหม้อาคารหลังหนึ่งที่ถูกโจมตีด้วยจรวด ในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธปะทะกันในกรุงตริโปลีเมื่อวันเสาร์ (23 ส.ค.)
เฟรเดอริก เวห์รีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพนานาชาติกล่าวว่า “ผมคิดว่าการจู่โจม (ของสหรัฐอาหรับเมิเรตส์) เป็นผลมาจากแรงผลักดันที่เราพบว่ากำลังก่อตัวขึ้นในลิเบีย ตลอดจนภายในแถบอียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์”

เวห์รีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำเนินนโยบายในตะวันออกกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลิเบีย และสหรัฐฯ ชี้ว่า “ผมเชื่อว่าเอมิเรตส์ไม่ได้ปรึกษากับตะวันตก”

อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างมองว่ากลุ่มติดอาวุธของ “ภราดรภาพมุสลิม” ในภูมิภาคแถบนี้เป็นภัยร้ายแรง และได้ผนึกกำลังกันต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นอันตรายต่อส่วนรวม

อับดุลคาเลก อับดุลลา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอมิเรตส์กล่าวว่า ในช่วงที่บรรดามหาอำนาจชาติตะวันตกกำลังมุ่งความสนใจไปที่อิรักและซีเรีย อียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองว่า (ถึงเวลา) ที่พวกเขาจะต้องดำเนินปฏิบัติการที่ไม่ปกติเช่นนี้”

*** เมื่อสหรัฐฯ พึ่งพาไม่ได้อีกต่อไป ***

การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สะท้อนให้เห็นว่า ชาติพันธมิตรเก่าของวอชิงตันเต็มใจที่จะชิงลงมือโดยไม่ต้องหวังพึ่งแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ

บรรดาผู้นำซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างแสดงความกังวลว่า จะพึ่งพาวอชิงตันเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว พร้อมกับยกตัวอย่างการที่สหรัฐฯ กำลังโหมโรงความสัมพันธ์ทางทูตกับอิหร่าน และใช้แนวทางแก้ไขวิกฤตขัดแย้งในซีเรียอย่างรอบคอบ
สภาพความเสียหายของอาคารหลังใหญ่ ในท่าอากาศยานนานาชาติกรุงตริโปลี ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธ ฟาจร์ลิเบีย เข้ายึดครอง
อับดุลลากล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นซีเรียเป็นบทเรียนว่า คุณพึ่งอเมริกาหรือตะวันตกไม่ได้... อเมริกาไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว”

เวห์รีย์ก็เห็นพ้องกับแนวคิดนี้ โดยเขาชี้ว่า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังรู้สึกว่า ต้องจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง”

เมื่อเดือนพฤษภาคม พล.อ.คาลิฟา ฮัฟตาร์ อดีตนายทหารลิเบียที่ปลดเกษียณแล้ว และเป็นศัตรูกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้เปิดฉากโจมตีกลุ่มอิสลามิสต์ในเมืองเบงกาซี ขณะที่ เวห์รีย์ ซึ่งมีโอกาสไปเยือนลิเบียเมื่อเร็วๆ นี้กล่าวว่า มีการ “คาดการณ์” กันว่า เขาได้รับการนายพลคนนี้มี “ต่างชาติคอยหนุนหลัง”

เวห์รีย์ชี้ว่า ฮัฟตาร์ ซึ่งทำตัวเป็น (ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์) อัล-ซีซี ในอียิปต์” ได้กลายเป็นพันธมิตรท้องถิ่นของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์ ในลิเบีย

“เห็นได้ชัดว่า อียิปต์กำลังเป็นกังวลที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมลุกฮือก่อเหตุในบริเวณแนวพรมแดนติดกับแดนไอยคุปต์” อีกทั้งกังวลว่าจะมีการเคลื่อนอาวุธ ตลอดจน นักรบญิฮาดข้ามพรมแดนลิเบียเข้าสู่อียิปต์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้สนับสนุนให้ อัล-ซีซี ยึดอำนาจประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มภารดรภาพมุสลิม และประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้สื่อและเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักจะกล่าววิพากษ์วิจารณ์กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง
(แฟ้มภาพ) ชาวลิเบียออกมาชุมนุมประท้วงรัฐสภาลิเบียที่ตัดสินใจให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเข้าแทรกแซงกิจการของประเทศ เพื่อปกป้องพลเรือนและสถาบันต่างๆ ของรัฐ ในช่วงที่สถานการณ์ในประเทศกำลังระส่ำระสาย (15 ส.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น