เอเจนซีส์ - ดร.ไมเคิล เบเดน อดีตหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ตรวจสอบของนิวยอร์กซิตี ที่ทำการตรวจศพมาไม่น้อยกว่า 20,000 ร่าง และถือเป็นเซเลบฯในแวดวงนิติวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ นักแต่งนวนิยาย และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ในสหรัฐฯที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งครอบครัวของไมเคิล บราวน์ ให้ความเห็นว่า จากกระสุน 6 นัดสุดท้ายที่ยิงเข้าใส่เด็กหนุ่มผิวสีอายุ 18 ปีจากด้านหน้า มีนัดสุดท้ายที่ยิงเข้าที่ศรีษะปลิดชีพ และร่างของบราวน์ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ และล่าสุดเป็นคืนที่ 9 ของการประท้วง เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องความเป็นทำให้บราว์นและตำรวจเฟอร์กูสันที่ได้รับการสนับสนุนกำลังจากแนชันแนลการ์ดร่วม 2,000 นาย และตำรวจทางหลวงสหรัฐฯ หลังจากที่ประกาศเคอร์ฟิวถูกยกเลิก และมีการจับกุมขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางวันเมื่อวานนี้(18) ในขณะที่องค์กรแอมเนสตีสากลส่งทีมติดตามความรุนแรงในเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี
กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคนได้ปาขวดน้ำ และใช้กำลังผลักดันแผงเจ้าหน้าที่ตำรวจเฟอร์กูสันที่ยืนตระหง่านคุมเชิงจำนวนมาก และรถหุ้มเกราะได้เริ่มเคลื่อนที่รุกคืบที่มั่นของผู้ประท้วงในย่านดาวทาว์นของเฟอร์กูสัน และประกาศสั่งให้กลุ่มผู้ประท้วงถอยร่นกลับไป และรวมถึงยิงแก๊สน้ำตา และระเบิดแสงเข้าใส่ในคืนวันจันทร์(18) และมีกลุ่มนายทหารหญิงและชายแนชันแนลการ์ดประจำรัฐมิสซูรีจำนวนมากปรากฎให้เห็น
ผู้นำชุมชนอาทิ สาธุคุณประจำโบสถ์ต่างเกี่ยวแขนแผงผู้ประท้วงแน่น และตะโกนสั่งให้ถอยกลับไปก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้เกิดความรุนแรงเหมือนเช่นในคืนวันอาทิตย์(17) ที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตา และจับกุมไปอย่างน้อย 6 คน
ในเวลา 22.00น. ตามเวลาท้องถิ่น NBC NEWS สื่อสหรัฐฯ รายงานว่าดูเหมือนมีการถอยร่นเล็กน้อย แต่ทว่าเหตุการณ์กลับเลวร้ายในเวลา 23.00น. เพราะผู้ประท้วงไม่ยอมถอยกลับ และได้ตะโกนไปว่า “ไมค์ บราว์น ไม่สามารถล่าถอยได้” “ไมค์ บราวน์ ต้องการทำอย่างจริงจัง” ตำรวจได้ระดมใช้อาวุธปราบจลาจลทุกชนิดเท่าที่มีไม่ว่าจะเป็น แก๊สน้ำตา ระเบิดแสงและระเบิดเสียง รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์ชอปเปอร์บินวนสั่งการอยู่เหนือที่เกิดเหตุกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ลุกฮือ และมีแสงไฟจากกองเพลิงในที่เกิดเหตุที่ดูคล้ายสมรภูมิรบย่อยๆในรัฐมิสซูรีที่รู้กันดีในหมู่ชาวอเมริกันว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่มีปัญหาการเหยียดสีผิวมากที่สุดในสหรัฐฯ
และ NBC News รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้กองทัพนักข่าวถอนตัวออกไปจากพื้นที่การปะทะ และตั้งเขตนั้นว่า "Tape Off" เนื่องมาจากเกรงว่าจะยิ่งเป็นการยั่วยุกลุ่มผู้ประท้วงให้มีความรู้สึกโกรธแค้นมากขึ้น
และในเวลากลางวันเมื่อวานนี้(18) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มจับกุมตัวผู้ประท้วงที่หยุดเดิน จากกฎหมายสหรัฐฯที่อนุญาตให้พลเมืองมีสิทธิ์ตามกม.รัฐธรรมนูญสหรัฐฯว่าด้วยเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น (First Amendment)ที่อนุญาตให้ประท้วงได้แต่ผู้ประท้วงต้อง “เคลื่อนที่ตลอดเวลา”
โดยแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ชายที่เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงที่บริเวณลานจอดรถของซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกับ NBC News ว่า “ชายคนนั้นสมควรที่ต้องเดินต่อไปไม่หยุดเพื่อทำการประท้วงเหมือนกับเช่นคนอื่นๆ” และยังมีการยืนยันจากเอเจนซีภาพข่าวระดับโลก Getty Image ว่า สก็อตต์ ออลสัน (Scott Olson) หนึ่งในช่างภาพนักข่าวของเอเจนซีถูกจับกุมในวันจันทร์(18) และได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังจากนั้น
ด้านรอน จอห์นสัน ( Ron Johnson) ผู้บัญชาการตำรวจทางหลวงรัฐมิสซูรี ที่อยู่ในเหตุการณ์การจับกุมผู้ประท้วงรายที่ 2 ในคืนวันจันทร์(18)ให้สัมภาษณ์กับ NBC News ว่า “ไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีใครสักคนตะโกนจะทำร้ายบุคคลอื่น หรือจะรื้ออิฐตัวหนอนทางเท้าออกมา นี่ไม่ใช่เสรีภาพทางคำพูดแน่นอน”
“แทคติกวิธีการพวกนี้ถูกวางแผนล่วงหน้ามาอย่างดี คนพวกนี้ในคืนวันอาทิตย์ไม่ใช่กลุ่มที่จะถือว่าเป็นการแสดงออกว่า “เราคือใคร และเราต้องการอะไร” และยังเป็นการไม่เคารพต่อไมค์ บราวน์ และครอบครัวอีกด้วย” จอห์นสันให้สัมภาษณ์กับคริสต์ เฮย์ ในรายการ “All In” ทางMSNBC ทีวีเนตเวิร์กของสหรัฐฯ
ทั้งนี้บรรดาผู้ควบคุมสถานการณ์ในเฟอร์กูสันให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปรับเปลี่ยนแผนไปเรื่อยจนกว่าจะหาสมดุลย์ระหว่างอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติและการรักษาความสงบเรียบร้อยในเฟอร์กูสัน และประกาศเคอร์ฟิวในช่วงสุดสัปดาห์ล่าสุดได้ถูกยกเลิกไปในคืนวันจันทร์(18)
ในขณะที่ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้ออกแถลงการณ์ถึงเฟอร์กูสัน เรียกร้องให้มีความสงบในเฟอร์กูสัน และชี้แจงในการที่ผู้ว่าการรัฐมิสซูรีได้สั่งให้ทหารแนชันแนลการ์ดประจำรัฐร่วม 2,000 นายออกมารักษาความสงบสมทบกับตำรวจท้องที่และตำรวจทางหลวงรัฐมิสซูรี
อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวานนี้(18)ว่า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯที่แอมเนสตีสากลได้ส่งตัวแทนเฝ้าสังเกตการณ์มายังเฟอร์กูสัน โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 13 คนจะสังเกตการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจต่อกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งคนทั้งหมดได้เดินทางมาถึงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางสตีเวน ฮอกินส์ (Steven Hawkins) ผู้อำนวยการแอมเนสตีสากลประจำสหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายไปยังตำรวจเฟอร์กูสันเพื่อแสดงความวิตกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่นั่น และล่าสุดได้แสดงความไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐมิสซูรีที่ได้ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนถึง 5.00น.ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และหลังจากเหตุรุนแรงในคืนวันอาทิตย์(17) ทำให้ผู้ว่าการรัฐมิสซูรียกเลิกการประกาศเคอร์ฟิว แต่สั่งให้ทหารแนชันแนลการ์ดออกมาควบคุมสถานการแทน
ด้านผลการชันสูตรศพจากเอกชนที่ทางครอบครัวของไมเคิล บราวน์ได้ร้องขอ ดร.ไมเคิล เบเดน ที่ใช้เวลาถึง 4 ชม.ในการชันสูตรเมื่อวันอาทิตย์(17) พบว่า เหยื่อวัยรุ่นผิวสีอายุ 18 ปี ถูกยิงจากด้านหน้าไม่ตำกว่า 6 นัด โดย 2 นัดเจาะเข้าที่ศีรษะ และอีก 4 นัดที่แขนขวา โดยกระสุนทั้งหมดยิงเข้าทางด้านหน้า แต่นัดสุดท้ายที่เข้าบริเวณศรีษะทำให้บราวน์เสียชีวิต และยืนยันว่า ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ระหว่างบราวน์และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ มีเพียงร่องรอยที่ใบหน้าด้านขวาของบราวน์ที่เกิดจากผิวสีอายุ 18 ปีล้มลงกับพื้น แต่ก่อนหน้านี้ตำรวจเฟอร์กูสันและพยานได้อ้างว่า บราวน์ได้ใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กำลังทำการจับกุม
มีการชันสูตรศพเหยื่อผู้เสียชีวิตครั้งแรกโดยทางนิติเวชประจำรัฐมิสซูรี แต่ยังไม่มีการประกาศผลออกมาอย่างเป็นทางการ และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นโดย ดร.ไมเคิล เบเดน จากฝ่ายครอบครัวของไมเคิล บราวน์ ที่ได้ประกาศผลออกมาล่าสุด และรัฐบาลกลางสหรัฐฯจะชันสูตรศพของบราวน์อีกเป็นครั้งที่ 3 ตอไป
เบเดน ผู้เชี่ยวชาญมือฉกาจด้านนิติวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯที่นอกจากจะไม่ใช่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในการถูกถ่ายภาพแล้ว และถึงแม้เขาจะมีชื่อเสียงโด่งดัง และประสบความสำเร็จอย่างมากในแวดวงนิติวิทยาศาสตร์ แต่ในปี 1979 เบเดนถูก เอ็ด คอช ( Ed Koch) นายกเทศมนตรีนิวยอร์กในขณะนั้นไล่ออก ฐานบกพร่องในการทำหลักฐานสำคัญสูญหาย และไม่ทำงานอย่างเต็มความสามารถร่วมกับทีมอัยการ แต่เบเดนสามารถพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล และได้รับค่าเสียหายราว100,000 ดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม เบเดนยังคงต้องออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ตรวจสอบของนิวยอร์กซิตีหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 11 เดือนเท่านั้น