รอยเตอร์ – แคนาดาเตรียมบริจาควัคซีนต้านเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการของรัฐบาลให้แก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อนำไปทดลองใช้ในประเทศแถบแอฟริกา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแคนาดาแถลงวานนี้(12)
การตัดสินใจบริจาควัคซีนของรัฐบาลแคนาดามีขึ้น หลังจากที่ WHO มีถ้อยแถลงในวันเดียวกันว่า การบริจาคตัวยาที่ยังไม่ผ่านการทดสอบให้แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ถือว่าผิดหลักจริยธรรม
กรุงออตตาวาจะบริจาควัคซีนระหว่าง 800-1,000 โดส ซึ่งตัวเลขที่แน่นอนนั้นขึ้นอยู่กับว่าแคนาดาจะเก็บบางส่วนไว้เพื่อการวิจัยและทดสอบทางคลินิกมากน้อยเท่าใด ทั้งนี้ รัฐบาลแคนาดาจะต้องเก็บวัคซีนไว้จำนวนหนึ่ง เผื่อกรณีที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ
โรนา แอมโบรส รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ระบุว่า เธอได้มอบวัคซีนดังกล่าวให้แก่ ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดร. เกร็ก เทย์เลอร์ รองหัวหน้าฝ่ายสาธารสุขของสำนักงานสาธารณสุขแคนาดา ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ก่อนที่รัฐบาลแดนเมเปิลจะประกาศแผนบริจาควัคซีนออกมาว่า สหรัฐฯ ก็กำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสอีโบลาอยู่เช่นกัน ขณะที่ WHO และรัฐบาลอีกหลายประเทศกำลังหารือความเป็นไปได้ที่จะนำวัคซีนเหล่านี้ไปทดลองใช้ในแอฟริกา
ปัจจุบัน แคนาดามีวัคซีนสำหรับใช้ในสัตว์ทดลองเพียงราวๆ 1,500 โดส ซึ่งผลิตขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว และจำเป็นต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4-6 เดือนจึงจะสามารถผลิตเพิ่มเป็นจำนวนมากๆ ได้
ทั้งนี้ วัคซีนที่รัฐบาลแคนาดาผลิตขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับตัวยาที่บริษัท เท็กมิรา ฟาร์มาชูติคอลส์ คอร์ปอเรชัน ของแคนาดากำลังพัฒนาแต่อย่างใด
การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในครั้งนี้ถือว่ากว้างขวางและรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อร้ายนี้แล้วถึง 1,013 คนในกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน
เทย์เลอร์ ระบุว่า วัคซีนต้านเชื้ออีโบลาของแคนาดาซึ่งบริษัท ไบโอโพรเทคชัน ซิสเต็มส์ ของสหรัฐฯ บริษัทในเครือ นิวลิงก์ เจเนติกส์ ได้รับลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่เคยทดสอบกับมนุษย์มาก่อน
สัปดาห์ที่แล้ว นิวลิงก์ ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐไอโอวา ระบุว่า ไบโอโพรเทคชัน ได้ทำสัญญากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในการศึกษาวิเคราะห์วัคซีนอีโบลาของแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดลองในมนุษย์
วัคซีนชุดแรกๆ ที่ถูกส่งไปยังทวีปแอฟริกาคาดว่าจะถูกนำไปฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน เทย์เลอร์ เผย
สำนักงานสาธารณสุขแคนาดายังมีส่วนร่วมพัฒนาตัวยา Zmapp ซึ่งผลิตโดยบริษัท แมปป์ ไบโอฟาร์มาชูติคอล ของสหรัฐฯ และเคยถูกนำไปใช้รักษาชาวอเมริกัน 2 คนที่ได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาในไลบีเรียมาแล้ว
รัฐบาลไลบีเรียแถลงวานนี้(12)ว่า จะทดลองให้ยา Zmapp กับแพทย์อีก 2 รายที่ล้มป่วยเช่นกัน