xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยอเมริกันเปิดใจครั้งแรก “ผมเป็นประจักษ์พยานในวันอีโบลาล้างโลก” - ประท้วงวุ่นในไลบีเรีย “ให้เก็บศพติดเชื้อจากข้างทาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายบน) นายแพทย์เคนท์ แบรนต์ลีย์ (ซ้ายล่าง) แนนซี ไรท์โบล (ขวาบน) ศพผู้ติดเชื้อถูกทิ้งไว้ข้างถนนที่ไลบีเรีย (ล่างขวา) แผนที่กินี
เอเจนซีส์ – นายแพทย์ เคนท์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly ) ผู้ป่วยชาวสหรัฐฯติดเชื้ออีโบลาจากไลบีเรียรายแรกได้เปิดใจในวันศุกร์ (7) จากห้องกักกันพิเศษของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เล่าถึงความรู้สึกเป็นครั้งแรกหลังเดินทางกลับมารักษาตัวในสหรัฐฯ ด้านกระทรวงสาธารณสุขของซาอุดีอาระเบีย รายงานว่า ผู้ป่วยชายที่ต้องสงสัยอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลานั้น มีผลตรวจติดเชื้อเป็นลบ แต่ทว่าเขาเสียชีวิตลงจากสาเหตุอื่นในวันพุธ (6) ส่วนชาวไลบีเรียรวมตัวประท้วงรัฐบาล ขอให้เก็บศพติดเชื้อที่ถูกทิ้งไว้จากข้างทาง และกินีประกาศปิดพรมแดนติดไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนจากวิกฤตอีโบลา

สื่อ NBC News สื่อสหรัฐฯ รายงานในวันเสาร์ (8) ว่า นายแพทย์ เคนท์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly ) ผู้ป่วยชาวสหรัฐฯติดเชื้ออีโบลาจากไลบีเรียรายแรกได้เปิดใจในวันศุกร์ (7) จากห้องกักกันพิเศษของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย “ผมจะแข็งแรงขึ้นทุกวัน” จากแถลงการณ์ แบรนต์ลีย์ กล่าวว่า เขาเขียนมาจากห้องป้องกันภัยทางชีวภาพขั้นสูงของโรงพยาบาบมหาวิทยาลัยอีโมรี และกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณพระเจ้าในพระเมตตาของพระองค์ในขณะที่ผมยังมีลมหายใจต่อสู้โรคร้ายอยู่ในขณะนี้ ผมเขียนขึ้นเพื่อขอเล่าความคืบหน้าล่าสุดของตัวเองจากห้องป้องกันภัยทางชีวภาพขั้นสูงของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี ที่แพทย์และพยาบาลต่างให้ความเอาใจใส่อย่างดีที่สุด ผมจะแข็งแรงขึ้นทุกวัน และผมต้องขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อทุกคนที่เฝ้าอธิษฐานให้ผม รวมไปถึงเพื่อนร่วมงาน แนนซี ไรท์โบล และผู้คนในไลบีเรีย และแอฟริกาตะวันตก”

และแบรนต์ลีย์แถลงต่อว่า “จากสถานการณ์ในโรงพยาบาลเอลวา (ELWA) ในไลบีเรีย ที่ผมทำงานอยู่เมื่อโรคร้ายได้ย่างกรายเข้ามา จากการทำงานที่หนักอยู่แล้วกลายเป็นความโกลาหลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยติดเชื้อ ผมได้กุมมือเหล่าคนไข้จำนวนนับไม่ถ้วน ในขณะที่ต้องจากโลกนี้ไปในสภาพที่น่าหดหู่ ผมเป็นประจักษ์พยานแรกในวันอีโบลาล้างโลก และยังจำใบหน้าและชื่อของคนไข้เหล่านั้นที่ต้องเสียชีวิตลง”

นอกจากนี้ แบรนต์ลีย์ยังเล่าถึงการเริ่มป่วยของเขาในไลบีเรียว่า “ในเช้าวันพุธนั้นผมเริ่มป่วย และได้กักตัวเองออกมาจากคนอื่นทั้งหมด จนกระทั่งผลการวินิจฉัยออกมายืนยัน 3 วันหลังจากนั้น และเมื่อผลตรวจยืนยันว่าผมติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว ผมรู้สึกถึงความสงบที่เหนือไปกว่านั้น พระองค์ได้ทรงทำให้ผมรำลึกถึงสิ่งที่พระองค์ได้สั่งสอนมาเมื่อหลายปี และได้ประทานทุกสิ่งให้ผมเพื่อมีศรัทธาที่มุ่งมั่น”

และแบนรต์ลีย์แถลงตบท้ายว่า “ในขณะนี้ 2 สัปดาห์หลังจากครั้งแรกที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ ทุกสิ่งเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่ความมุ่งมั่นและจุดประสงค์ที่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ายังคงอยู่ ที่พระองค์ทรงส่งผมไปช่วยเหลือผู้คนในแอฟริกาตะวันตก ผมขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อทุกท่านที่อธิษฐานให้ผม รวมไปถึงเพื่อนของผม แนนซี ไรท์โบล เพื่อให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม ได้โปรดอธิษฐานต่อไป และสิ่งอื่นใดทั้งหมด ขอให้ทุกท่านได้โปรดร่วมอธิษฐานให้เรามีความเชื่อมั่นต่อพระองค์ในยามที่พระองค์เรียกร้องต้องการทดสอบในสถานการณ์ที่ยากลำบาก”

ในขณะที่สามีของแนนซี ไรท์โบล ผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลารายที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า ชะตาชีวิตของเธอในขณะนี้อยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า และสุขภาพของภรรยาดีขึ้น เธอสามารถร้องขอกาแฟสตาร์บัคส์ได้

ทั้งนี้ คนไข้ชาวอเมริกันทั้งสองได้รับการรักษาด้วยเซรุ่มทดลอง “Zmapp” ซึ่งทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา และ CDC หรือสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ ต่างยืนยันว่า เซรุ่มนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นโทษหรือเป็นคุณกับคนไข้ และในขณะนี้อีโบลายังไม่มีทางรักษา

ด้านสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียได้ประกาศในวันเสาร์ (8) ผลการตรวจเชื้อของ อิบราฮิม อัล-ซห์รานี (Ibrahim Al-Zahrani) นักธุรกิจชาวซาอุฯ วัยราว 40 ปี คนไข้ชายที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคอีโบลาว่า “ไม่มีการติดเชื้อไวรัสมรณะนี้” แต่ทว่าเป็นที่น่าเสียดายว่า ชายผู้นี้ได้เสียชีวิตลงในวันพุธ (6) ที่ผ่านมา โดยทางซาอุฯ คาดว่า เขาอาจติดเชื้อโรคอื่นในเซียร์ราลีโอน และเป็นเหตุทำให้มีอาการคล้ายติดเชื้อไวรัสอีโบลา และจบชีวิตลงในที่สุดหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เพียง 2 วัน โดยทางแล็บของ CDC ที่ได้ตรวจเลือดของคนไข้รายนี้จะทำการตรวจสอบด้านอื่นชั้นสูงต่อไปเพื่อสืบหาว่าเชื้อไวรัสประเภทใดที่ทำให้คนไข้รายนี้เสียชีวิต

ส่วนในไลบีเรีย เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลต้องเร่งควบคุมฝูงผู้ประท้วงที่โกรธแค้นบนถนนไฮเวย์ในย่านที่พลุกพล่านจากสาเหตุที่รัฐบาลไลบีเรียล่าช้าในการเก็บศพผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ถูกทิ้งเกลื่อนในที่สาธารณะ ที่พบว่ามีจำนวนร่างผู้เสียชีวิตราว 2 - 3 คนถูกทิ้งไว้ที่ข้างถนนในเมือง Weala ห่างจากกรุงมอนโรเวียไปราว 50 ไมล์ นาน 2 - 3 วันมาแล้ว และไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดเข้ายื่นมามาจัดการกับเรื่องนี้ ชาวเมืองกล่าว

ในขณะที่ ลูอิส บราวน์ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลไลบีเรียประกาศทางวิทยุว่า “ในขณะนี้ตำรวจกำลังเดินทางไปเพื่อจัดการควบคุมความสงบ” และกล่าวเสริมว่า “เราไม่ต้องการเห็นกฏหมู่ในไลบีเรีย” ทั้งนี้มีชาวไลบีเรียเสียชีวิตจากโรคอีโบลาราว 300 คน

และกินีประกาศปิดพรมแดนติดไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนจากวิกฤตระบาดโรคอีโบลาในวันเสาร์ (8) มีผู้ป่วยในกินีเสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่มีนาคมล่าสุดอย่างน้อย 367 คน มีผู้ป่วย 18 คนที่ถูกรักษาในห้องกักกัน และยอดเสียชีวิตรวมในแอฟริกาตะวันตกเกือบแตะ 1,000 คน

รอยเตอร์รายงานว่า เรมีย์ ลามาห์ (Rémy Lamah) รัฐมนตรีสาธารณสุขกินีแถลงว่า มาตรการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อข้ามพรมแดนเข้ามาในกินี ด้าน Moustapha Koutoub Sano รัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือกิจการต่างประเทศแห่งกินี แถลงว่า การปิดพรมแดนนี้ได้ปรึกษาตัวแทนจากทั้งไลบีเรียและเซียราลีโอนก่อนหน้านี้แล้ว
การดูแลผู้ป่วยไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น