เอเอฟพี – อดีตนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮาหมัด แห่งมาเลเซีย เรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในแดนเสือเหลืองเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งศีลธรรมในสังคม ขณะที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีว่าอดีตผู้นำรายนี้กำลังพยายามปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
แม้จะอำลาเก้าอี้นายกฯ ไปตั้งแต่ปี 2003 ทว่า มหาธีร์ ซึ่งเคยกุมอำนาจบริหารมาเลเซียนานที่สุดถึง 22 ปี ยังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงในแวดวงการเมืองแดนเสือเหลือง
“อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนศีลธรรมในสังคมเรา” มหาธีร์ วัย 89 ปี โพสต์ข้อความในบล็อกส่วนตัวของเขาเมื่อวานนี้(1)
“ทุกวันนี้เยาวชนของเราสามารถเข้าถึงสื่อลามกอนาจารขั้นเลวร้ายที่สุดได้อย่างง่ายดาย... ผมไม่สนใจหรอกว่า “เสรีภาพ” เป็นคำศักดิ์สิทธิ์อย่างไร แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลมาเลเซียจะต้องกลั่นกรองเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต”
มหาธีร์ เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในทศวรรษที่ 1990 ว่า รัฐบาลของเขาจะไม่มีวันนำมาตรการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตมาใช้ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้บริษัทไฮเทคต่างชาติเข้ามาลงทุนในมาเลเซีย
“เมื่อก่อนผมยังไม่รู้ซึ้งถึงอิทธิพลของอินเทอร์เน็ต ผมจึงให้สัญญา (ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ว่าจะไม่ปิดกั้นมัน แต่วันนี้ผมเปลี่ยนใจแล้ว”
อดีตผู้นำอาวุโสซึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์ถ่ายทอดแนวคิดและจุดยืนของตนเสมอมา ชี้ว่าทุกวันนี้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ถูก “ปิดกั้น” อยู่แล้ว
“ตัวผมเองก็ได้รับความลำบากจากการปิดกั้นข้อมูล เวลาที่ผมโพสต์บทความเกี่ยวกับยิวในบล็อกส่วนตัว บทความเหล่านั้นกลับไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังเฟซบุ๊กได้ โดยไม่มีคำอธิบายอะไรทั้งสิ้น”
โทนี ปัว ส.ส.ฝ่ายค้านวัย 42 ปี จากพรรค เดโมแครติก แอคชัน ปาร์ตี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ตัวเขาเองสนับสนุนนโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ตในบางแง่มุม เช่น ห้ามการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร เป็นต้น แต่สำหรับข่าวสารหรือข้อคิดเห็นโดยทั่วไปนั้น ไม่สมควรถูกปิดกั้นเด็ดขาด
“ในกรณีของมาเลเซีย เราเกรงว่ามาตรการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตจะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจ และกดขี่ฝ่ายค้านไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้”
พรรคฝ่ายค้านมาเลเซียมักเป็นกระบอกเสียงร้องเรียนปัญหาการคอร์รัปชัน ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาชญากรรมต่างๆ
ปัจจุบันประชากรมาเลเซีย 30 ล้านคนสามารถเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้ประมาณร้อยละ 66