xs
xsm
sm
md
lg

มะกันกดหัวไทยค้ามนุษย์รุนแรง กระทบสินค้าแพง ส่งออกน้อยลง แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน โอดป้องกันการค้ามนุษย์เต็มที่แล้ว แต่ยังถูก “มะกัน” กดหัวไทยมีปัญหาค้ามนุษย์รุนแรงสูงสุด เผยกระทบเศรษฐกิจ สินค้าส่งออก แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง เผยแรงงานเขมรเริ่มทยอยกลับเข้าไทยแล้ว จ่อลดค่าใช้จ่ายการเข้ามาทำงานในไทย ขู่เอาผิด ขรก.เรียกสินบน บ.จัดหาแรงงานต่างด้าวทำผิด กม. ด้านผู้ประกอบการแนะ คสช.เจรจาประเทศต้นทางลดค่าบริการจัดหางานของแต่ละประเทศ ออกเอกสารไวขึ้น ลดแรงงานผิดกฎหมาย

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวในการประชุมผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศภาคเอกชนกรณีการจัดหา/นำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย โดยมีตัวแทนผู้รับใบอนุญาตเข้าร่วมกว่า 100 คน ว่า ไทยถูกกล่าวสหรัฐอเมริกากล่าวหาในเวทีโลก 3 เรื่อง คือ 1. กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าวหาว่าไทยเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาถูกจัดอันดับอยู่ระดับ 2.5 มา 4 ปีติดต่อกัน แต่เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. กลับประกาศปรับลดเป็นระดับ 3 ซึ่งถือว่าแย่ที่สุด 2. กระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ กล่าวหาว่าไทยมีสินค้า 5 ชนิดที่มีการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก ได้แก่ อ้อย กุ้ง ปลา สิ่งทอ และสื่อลามก และ 3. สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางการศุลกากรของไทย เพราะไม่ประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน

นายจีรศักดิ์กล่าวอีกว่า หน่วยงานรัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งสินค้าการเกษตร สิ่งทอและอาหารทะเล เนื่องจากจะทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษต่างๆ ทำให้ต้องขายสินค้าราคาแพงขึ้น และยังต้องต่อสู้ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง ก่อให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานได้ ซึ่งกระทบต่อบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ประกาศลดอันดับค้ามนุษย์ไทยไปอยู่ระดับ 3 นั้น ขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศตัดสิทธิใดๆ ของ 23 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว

ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าว (กนร.) ประชุมและกำหนดนโยบายชัดเจนแล้ว ก.แรงงานจะขอความร่วมมือบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาร่วมกันกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยให้เหมาะสมเป็นธรรมและถูกลง เพราะขณะนี้มีค่าใช้จ่ายเพียงค่าธรรมเนียมและค่าบริการเท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลังจากนี้ ก.แรงงานจะปรับระบบบริการแก่บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม โปร่งใส หากมีเจ้าหน้าที่ ก.แรงงานเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่กระทรวงกำหนดไว้ ก็ขอให้แจ้งมายังตน ซึ่งวันนี้ตนได้ประชุมข้าราชการสังกัด กกจ.และกำชับไปแล้ว โดยคาดโทษหากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือเกี่ยวข้องกับเงินทองที่ไม่ถูกต้องจะลงโทษสถานหนัก และบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวก็ขอให้เก็บค่าบริการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม โปร่งใสและไม่ให้มีจ่ายสินบนกับเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวก รวดเร็ว หากเจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บก็ร้องเรียนมายังตนโดยตรง และถ้าบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะลงโทษโดยการเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดบริษัท

นายจีรศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีแรงงานเขมรที่หนีกลับประเทศกว่า 1 แสนคนนั้น ขณะนี้แรงงานเขมรที่มีพาสปอร์ตได้เริ่มทยอยกลับเข้ามาในไทยแล้ว แต่ยังไม่ทราบตัวเลขชัดเจนต้องรอสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สรุปตัวเลขก่อน

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขอความร่วมมือบริษัทนำเข้าแรงงานต่างใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ขอความร่วมมือในการกำหนดค่าบริการทีเป็นธรรม ไม่มีส่วนต่างที่เกินความเหมาะสม เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นเจ้าหน้าที่กระทำผิดสามารถแจ้งต่อกระทรวงแรงงานได้ทันที ถ้ามีหลักฐานชัดเจนจะมีบทลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา 2. การจัดหางานแรงงานต่างด้าวจะไม่มีการเรียกเก็บหรือขออะไรก็ตามที่เหนือจากไประเบียบกฎหมายที่กำหนดโดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ จะไม่มีเด็ดขาดเพื่อให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และ 3. ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามก็จะลงโทษหลังจากนี้กระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวปฏิบัติว่าผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

นายธนาคม นาคเฉลียว ผู้แทนสำนักงานจัดหางานสุเทพบริการ เขตบางบอน กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทนำเข้า พม่า ลาว กัมพูชา ผ่านระบบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (MOU) 100-200 คนต่อปี ส่วนพม่าเสียค่าใช้จ่าย 10,000 บาทต่อคน เช่น ค่าพาสปอร์ต ค่าวีซ่า ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบริการจัดหางานในประเทศ กัมพูชา 18,000 บาทต่อคน โดยในจำนวนนี้แรงงานต้องจ่ายค่าบริการจัดหางานของเขมร 12,000 บาท และลาว มีค่าใช้จ่าย 22,000 บาทต่อคน ต้องจ่ายค่าบริการให้บริษัทจัดหางานของลาว 18,000 บาท

นายธนาคมกล่าวอีกว่า หากจะปรับลดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวทาง คสช.จะต้องเจรจาต้นทางของแต่ละประเทศให้ปรับลดค่าบริการจัดหางานภายในของตัวเองลง รวมทั้งขอความร่วมมือประเทศต้นทางเร่งดำเนินการเอกสารเพราะกว่าประเทศต้นทางจะดำเนินการเอกสารเสร็จก็ใช้เวลา 1-2 เดือน ซึ่งแรงงานต่างด้าวบางคนอยากเข้ามาทำงานในไทยโดยเร็วก็หลบหนีและกลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทต้องรับผิดชอบโดยจ่ายค่าชดเชยหรือจัดหาแรงงานใหม่มาทดแทน เพราะมีสัญญากับผู้ประกอบการภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวน 224 แห่ง และตั้งอยู่ในส่วนกลางจำนวน 111 แห่ง ภูมิภาคจำนวน 113 แห่ง และอยู่ระหว่างยื่นคำขอจำนวน 7 แห่ง และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยผ่านเอ็มโอยู 373,880 คน แยกเป็นพม่า 91,797 คน ลาว 53,431 คน และกัมพูชา 228,652 คน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่
















กำลังโหลดความคิดเห็น