xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอุยกูร์หลายสิบคนถูกสังหารในเหตุปะทะกันที่ซินเจียง

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Dozens of Uyghurs killed in Xinjiang clashes
By Radio Free Asia
30/07/2014

ตำรวจจีนในแคว้นซินเจียงที่กำลังอยู่ในภาวะไม่สงบ ได้ยิงชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งออกมาก่อเหตุวุ่นวายเสียชีวิตไปหลายสิบคน โดยที่มีรายงานว่าชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในซินเจียงแต่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ดูจะมีความโกรธแค้นไม่พอใจสะสมอยู่ จากการที่พวกเขาถูกสั่งห้ามถูกตั้งข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอดตามหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งจากกรณีที่ครอบครัวชาวอุยกูร์ซึ่งมีสมาชิก 5 คนครอบครัวหนึ่งถูกสังหาร นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่าฝ่ายตำรวจก็อาจจะเสียชีวิตไปสิบกว่าคนในการปะทะกันคราวนี้

ตำรวจจีนในเขตปกครองซินเจียงที่กำลังอยู่ในภาวะไม่สงบ ได้ยิงชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งออกมาก่อเหตุวุ่นวายโดยใช้มีดและขวานเป็นอาวุธ เสียชีวิตไปหลายสิบคน โดยที่มีรายงานว่าชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในซินเจียงแต่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ดูจะมีความโกรธแค้นไม่พอใจสะสมอยู่ จากการที่พวกเขาถูกสั่งห้ามถูกตั้งข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอดตามหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งจากกรณีที่ครอบครัวชาวอุยกูร์ซึ่งมีสมาชิก 5 คนครอบครัวหนึ่งถูกสังหารอย่างเลือดเย็น ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่หลายๆ ราย

เหตุจลาจลวุ่นวายคราวนี้เกิดขึ้นที่อำเภอยาร์คันด์ (Yarkand ในภาษาจีนเรียกชื่อว่า ซาเชอ Shache) ในจังหวัดคัชการ์ (Kashgar) ของเขตปกครองซินเจียง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในระหว่างเทศกาลอีดีลฟีตรี (Eid al-Fitr) อันเป็นการเฉลิมฉลองวาระสิ้นสุดของการถือศีลอดเดือนรอมฎอน เมื่อวันจันทร์ (28 ก.ค.) ที่ผ่านมา

ความวุ่นวายครั้งนี้ถือเป็นการปะทะกันครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในซินเจียง นับตั้งแต่การจลาจลนองเลือดในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองซินเจียงในปี 2009 โดยที่ในการปะทะกันระหว่างชาวอุยกูร์ กับ ชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศจีนเมื่อ 5 ปีก่อนคราวนั้น มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 200 คน

แหล่งข่าวอย่างน้อย 2 รายของวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ (RFA’s Uyghur Service) ระบุว่าจำนวนคนตายอาจจะสูงเกิน 50 คน ทว่าข้อมูลนี้ไม่สามารถทำการตรวจสอบยืนยันอย่างเป็นอิสระได้ ในขณะที่กลุ่มชาวอุยกูร์ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งอ้างว่ามีตำรวจสิบกว่าคนถูกสังหารไปในการปะทะกันคราวนี้ด้วย

ทางด้านสำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า “พลเรือนชาวอุยกูร์และชาวฮั่นหลายสิบคนถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ” ระหว่างการปะทะกันครั้งนี้ซึ่งบังเกิดขึ้นเนื่องจากทางการผู้รับผิดชอบของจีน เดินหน้าดำเนินการรณรงค์ต่อต้านการก่อการร้ายตลอดทั่วทั้งเขตซินเจียง หลังจากที่ได้เกิดเหตุระเบิดซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลายรายบอกกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ว่า การจลาจลครั้งล่าสุดนี้เริ่มขึ้นในตอนเช้าวันจันทร์ (28 ก.ค.) เมื่อมีชาวอุยกูร์หลายกลุ่มบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจแห่งหนึ่งและสำนักงานของรัฐบาลหลายแห่งในตำบลเอลิชคู (Elishku) ทำให้ฝ่ายตำรวจยิงเข้าใส่ฝูงชนจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก

ข้อความที่มีผู้โพสต์ทางออนไลน์ชิ้นหนึ่งอ้างว่า มีผู้คนมากกว่า 300 คนทีเดียวบุกเข้าโจมตีตำรวจ “ด้วยมีด, ไม้กระบอง, และกระทั่งด้วยมือเปล่าๆ ของพวกเขา” จากนั้นการจลาจลก็ลุกลามไปยังหมู่บ้าน 3 แห่งในตำบลเอลิชคู โดยที่พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น, เจ้าหน้าที่ชาวอุยกูร์, และคนจีนฮั่น ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้ ตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงาน

**รถหลายคันถูกเผา**

ตูร์คุน ฮิดายัต (Turghun Hidayat) ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเอชิลคู เล่าว่า เขาได้รับการบอกเล่า ณ การประชุมรับเหตุฉุกเฉินว่า “มีคนจำนวนหนึ่งบุกเข้าโจมตีอาคารรัฐบาลตำบลหลายแห่งรวมทั้งสถานีตำรวจด้วย” และเมื่อตำรวจพยายามเข้ารักษาความสงบ พวกผู้ก่อจลาจลก็ “วิ่งออกมาตามท้องถนนและโจมตีเล่นงานยานยนต์ต่างๆ”

สำนักข่าวซินหวาระบุว่า มีรถยนต์ถูกทุบถูกทำลายรวม 31 คัน ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คันถูกจุดไฟเผา

ทางด้าน อาลิม อาดูร์ชิต (Alim Adurshit) หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านหมู่ที่ 14 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 หมู่บ้านที่เกิดเหตุจลาจล ให้ความเห็นว่าการปะทะกันที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีชนวนเหตุจากมาตรการข้อห้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นต้นว่า การที่ตำรวจออกตรวจค้นตามบ้านในถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวอุยกูร์

“ผมคาดเดาว่าการที่พวกผู้ก่อจลาจลทำเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะต้องการตอบโต้การถูกห้ามถูกจำกัดต่างๆ ในช่วงเดือนรอมฎอน” เขากล่าว “ระหว่างช่วงเดือนรอมฎอนคราวนี้ มีความไม่พอใจที่คุกรุ่นสะสมอยู่ในใจกันมาก เกี่ยวกับการออกตรวจค้นตามบ้าน และการให้ [ผู้หญิงชาวมุสลิมอุยกูร์] ถอดผ้าคลุมศีรษะระหว่างการตรวจค้น”

ขณะที่ อัยตุลเลาะห์ ตูร์ซุน (Aytullah Tursun) ผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ 16 ซึ่งก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เกิดการปะทะกันคราวนี้ บอกว่ากรณีที่ตำรวจสังหารครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คนครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านเบชเคนต์ (Beshkent) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตำบลเอลิชคู เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา น่าจะเป็นชนวนเหตุของการจลาจล

ตามคำบอกเล่าของ ตูร์ซุน ตำรวจได้ยิงสมาชิกของครอบครัวนี้เสียชีวิตหมด รวมทั้งเด็กผู้ชายอายุ 7 ขวบคนหนึ่งและผู้เป็นปู่วัย 72 ปี หลังจากที่ตำรวจคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บในระหว่างการทะเลาะกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตำรวจให้พวกผู้หญิงในบ้านหลังหนึ่งถอดผ้าคลุมศีรษะเพื่อตรวจค้น

“จากที่ผมรู้มานั้น พวกเขาออกมาชุมนุมกันก็เพื่อแสดงความโกรธแค้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเบชเคนต์” ตูร์ซุน บอก

**บริการอินเทอร์เน็ตถูกตัด**

หลังจากเกิดจลาจล ทางการผู้รับผิดชอบของจีนได้ตัดบริการอินเทอร์เน็ตในหลายๆ ส่วนของอำเภอยาร์คันด์ ทั้งนี้ตามปากคำของลูกจ้างคนหนึ่งในเกสต์เฮาส์ที่อยู่ในอำเภอดังกล่าว ซึ่งรับโทรศัพท์ที่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (RFA’s Mandarin Service) ติดต่อไป

ขณะที่ ดิลซัต ราซิต (Dilxat Raxit) ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้องค์การ “สมัชชาชาวอุยกูร์โลก” (World Uyghur Congress ใช้อักษรย่อว่า WUC) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวอุยกูร์ลี้ภัยที่ใช้เยอรมนีเป็นฐาน ได้บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในเหตุจลาจลคราวนี้มีชาวอุยกูร์กว่า 20 คนถูกเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข่นฆ่า และอีก 10 คนได้รับบาดเจ็บ

เขาอ้างด้วยว่า ทางด้านบุคลากรชาวจีนที่ถืออาวุธ ก็มี 13 คนถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บเช่นกัน และมีคนถูกเจ้าหน้าที่จีนจับกุมไปอีกราว 67 คน

เขาบอกว่า ชาวอุยกูร์ “กำลังต่อต้านนโยบายกดขี่แบบสุดๆ ของจีน จึงทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา

ราซิตแถลงว่า เรบิยะ คาดีร์ (Rebiya Kadeer) ผู้นำหญิงของ WUC เรียกร้องให้จีน “ยับยั้งชั่งใจและยุติการกดขี่ปราบปรามอย่างเป็นระบบ” รวมทั้ง “เธอกำลังรู้สึกวิตกที่จีนจะใช้เหตุการณ์นี้เพื่อเพิ่มการกดขี่ปราบปรามมากขึ้นอีก และจะเป็นเหตุให้ประชาชนต้องสูญเสียเสรีภาพของพวกเขามากขึ้น”

ทั้งนี้ตามรายงานของรัฐบาลจีน มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 200 คนแล้วจากความไม่สงบในซินเจียงในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีมานี้ รวมทั้งในเหตุระเบิดที่เมืองอุรุมชี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งมีผู้ถูกสังหารไป 31 คนและบาดเจ็บอีก 90 คน อีกทั้งยังทำให้ทางการแดนมังกรเร่งเปิดการรณรงค์ต่อต้านการก่อการร้ายอย่างขนาดใหญ่

เท่าที่ผ่านมา ชาวอุยกูร์จำนวนมากร้องเรียนว่า พวกเขาถูกกดขี่ทั้งในทางการเมือง, วัฒนธรรม, และศาสนา จากการปกครองซินเจียงของจีน

ข่าวนี้รายงานโดย โชห์เรต โฮชูร์ (Shohret Hoshur) กับ อีเซต สุไลมาน (Eset Sulaiman) ทางวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ (RFA’s Uyghur Service) และ หยาง ฟาน (Yang Fan) ทางวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (RFA’s Mandarin Service) แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย มามัตจัน จูมา (Mamatjan Juma) กับ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ปรเมศวรัน ปอนนูดูไร (Parameswaran Ponnudurai) กับ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต

*หมายเหตุผู้แปล*

ทางด้านสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน รายงานข่าวเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้

มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในการโจมตีก่อการร้ายที่ซินเจียง

อูรุมชี, 29ก.ค.(ซินหวา) – มีพลเรือนหลายสิบคนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บในการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้ายเมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ (28 ก.ค.) ในอำเภอซาเชอ, จังหวัดคัชการ์, เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ทั้งนี้ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น

แก๊งคนร้ายซึ่งมีมีดและขวานเป็นอาวุธได้เข้าโจมตีสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง และสำนักงานรัฐบาลหลายแห่งในตำบลเอลิชคู และยังมีบางส่วนเคลื่อนตัวไปยังตำบลหวงตี้ (Huangdi) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ทำการโจมตีพลเรือนและทุบทำลายยวดยานต่างๆ ตามทางที่พวกเขาเคลื่อนผ่านไป ตามรายงานของตำรวจท้องถิ่นระบุว่า มีพลเรือนชาวอุยกูร์และชาวฮั่นจำนวนหลายสิบคนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ

พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุ ก็ได้ยิงสมาชิกของฝูงชนเหล่านี้ตายไปหลายสิบคน ขณะที่มีรถยนต์ถูกทุบถูกทำลายรวม 31 คัน ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คันถูกจุดไฟเผา

จากการสอบสวนเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นการโจมตีแบบก่อการร้ายซึ่ง “มีการจัดตั้งเป็นองค์กรและมีการไตร่ตรองวางแผนล่วงหน้า” ตำรวจท้องถิ่นระบุเอาไว้เช่นนี้ โดยที่ในขณะนี้ยังกำลังมีการสอบสวนเพิ่มเติมกันอยู่

อำเภอซาเชอ ได้เคยเกิดเหตุการณ์โจมตีแบบก่อการร้ายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2013 โดยในคราวนั้นผู้ก่อการร้ายจำนวน 9 คนซึ่งมีมีดเป็นอาวุธ ได้เข้าโจมตีสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง คนร้ายเหล่านี้ยังได้ปาวัตถุระเบิด และจุดไฟเผารถยนต์ตำรวจไปหลายคัน ทางด้านตำรวจได้ยิงผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 8 คน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ก็ได้เกิดเหตุโจมตีขึ้นที่ตลาดแห่งหนึ่งในเมืองอูรุมชี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน และบาดเจ็บอีก 94 คน


นอกจากนั้น สำนักข่าวซินหวายังได้เผยแพร่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเป็นการรวบรวมทัศนะความคิดเห็นเบื้องต้น เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ บทวิจารณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

รวบรวมทัศนะความคิดเห็นเบื้องต้น: ความรุนแรงครั้งใหม่ในซินเจียงเป็นการกระทำดูหมิ่นอิสลาม
(Quick Viewpoints: Fresh Xinjiang violence blasphemy against Islam)

โดย กุ้ย เถา นักเขียนของซินหวา (Xinhua Writer Gui Tao)

ปักกิ่ง, 29 ก.ค. (ซินหวา) – พลเรือนหลายสิบคนถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ จากการโจมตีที่มีการไตร่ตรองวางแผนเอาไว้ก่อนของแก๊งติดอาวุธในซินเจียง เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ (28 ก.ค.) การสอบสวนในเบื้องต้นบ่งชี้ว่า นี่น่าจะเป็นการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่ง
ต่อไปนี้เป็นทัศนะความคิดเห็นที่รวบรวมขึ้นมาในเบื้องต้น:
--การโจมตีครั้งล่าสุดคราวนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณตอนใต้ของซินเจียง ที่ประชากรจำนวนมากเป็นคนชาติพันธุ์อุยกูร์ มีจุดมุ่งหมายที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนั้น และแพร่กระจายความหวาดกลัวและความเกลียดชัง ทำนองเดียวกับการโจมตีอีกหลายๆ ครั้งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
--การที่ตำรวจยิงใส่แก๊งคนร้ายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เด็ดขาดและชอบด้วยเหตุผล มันเป็นการป้องกันไม่ให้พลเรือนทั้งกลุ่มชาวฮั่นและกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ต้องเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากไปกว่านี้

--เหตุโจมตีคราวนี้เกิดขึ้น 1 วันก่อนหน้าวันอีดีลฟิตรี ซึ่งเป็นวาระสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เดือนศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวมุสลิม เทศกาลนี้ควรที่จะดำเนินไปในบรรยากาศแห่งสันติภาพ ด้วยการไตร่ตรองคำนึงถึงจิตวิญญาณและการปรับปรุงยกระดับจิตวิญญาณ

--การโจมตีคราวนี้เป็นสิ่งที่คัดค้านจิตวิญญาณของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เกิดวินัยในตนเองและการควบคุมตนเอง ในระหว่างเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมผู้มีศรัทธาเคร่งครัด ย่อมละเว้นจากความประพฤติทั้งหลายที่อาจถูกมองว่าเป็นการทำบาป เป็นต้นว่า การสาบาน อย่าว่าแต่การเที่ยวไล่ฆ่าฟันประชาชนผู้บริสุทธิ์

--พวกผู้ก่อจลาจลกำลังแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามอิสลาม ที่เป็น “ศาสนาแห่งสันติภาพ”

--การโจมตีคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการจัดงานแสดงสินค้าสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในเมืองคัชการ์ โดยที่งานนี้ได้รับการคาดหมายอย่างกว้างขวางว่า จะสามารถช่วยฟื้นฟูความมั่นใจในการลงทุนซึ่งได้เสียหายไปภายหลังความรุนแรงครั้งก่อนๆ ดังนั้นเหตุโจมตีล่าสุดนี้จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

กำลังโหลดความคิดเห็น