xs
xsm
sm
md
lg

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ “เฮลั่น” หลังศาลรธน.ยูกันดาพิพากษา กม.ต่อต้านชาวสีม่วง “เป็นโมฆะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิคนรักร่วมเพศเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในกรุงกัมปาลาเมื่อวันพุธ (30 ก.ค.) โดยตั้งความหวังว่าศาลจะตัดสินให้กฎหมายต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นโมฆะ
เอเอฟพี - ศาลรัฐธรรมนูญยูกันดาวันนี้ (1 ส.ค.) พิพากษาให้กฎหมายต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ “เป็นโมฆะ” โดยชี้ว่า รัฐสภาผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาด้วยความผิดพลาด ซึ่งนับเป็นชัยชนะของบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ออกโรงประณามกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “กฎหมายโหด”

ผู้พิพากษาซึ่งรับผิดชอบคดีนี้ประกาศในศาลว่า กฎหมายฉบับนี้ “ไม่มีผล และเป็นโมฆะ” โดยชี้ว่า กระบวนการผ่านกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม กฎหมายฉบับนี้ผ่านการลงมติในรัฐสภา ทั้งที่มีสมาชิกสภาไม่ครบองค์ประชุม

นิโคลัส โอปิโย ทนายความซึ่งเป็นผู้ผลักดันการคัดค้านกฎหมายต่อต้านชาวสีม่วงกล่าวว่า “ความยุติธรรมมีชัย เราเป็นฝ่ายชนะ”

ทางฝ่าย ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กล่าวว่า พวกเขาจะอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลสูงสุด

แอนดรูว์ เอ็มเวนดา หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องคัดค้านกฎหมายต่อต้านเกย์ 10 คนกล่าวว่า “การต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ ที่ทำให้ยูกันดาถอยหลังลงคลอง ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีหน้าหงาย จนตายสนิท”

กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผ่านการลงนามรับรองจากประธานาธิบดี โยเวรี มูเซเวนี ผู้นำหลายสมัยของยูกันดา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต สำหรับบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ นอกจากนี้ยังห้ามการส่งเสริมพฤติกรรมรักร่วมเพศทุกรูปแบบ และกำหนดให้ชาวยูกันดาต้องแจ้งให้ทางการทราบเมื่อพบเห็นบุคคลประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมไม้ป่าเดียวกันยังคงถือเป็นความผิด และผู้กระทำอาจถูกระวางโทษจำคุก ตามกฎหมายที่ผ่านออกมาก่อนหน้า แต่คาดว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวอาจกลายเป็นโมฆะเช่นกัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญยูกันดาประกาศคำพิพากษาเช่นนี้

บรรดาสมาชิกสภายังสามารถเสนอกฎหมายฉบับนี้ในรัฐสภาได้อีกครั้ง แต่ก็อาจเป็นกระบวนการที่อาศัยเวลานาน โดยอาจต้องใช้เวลาถึง 4 ปี นับตั้งแต่ขั้นตอนเสนอร่างกฎหมาย ไปจนถึงการลงมติ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
บาทหลวง มาร์ติน เอสเซ็มปา ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านชาวสีม่วง พูดคุยกับกับเพื่อนนักเคลื่อนไหวในศาลรัฐธรรมนูญยูกันดา
อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิเพศที่ 3 ก็รู้สึกยินดีที่ศาลมีคำตัดสินเช่นนี้

คาชา ฌาคเกอลีน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวสีม่วงที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคัดค้านกล่าวว่า “ต่อไปนี้ ฉันไม่ใช่อาชญากรอีกแล้ว วันนี้เป็นวันที่เราสร้างประวัติศาสตร์ให้ลูกหลาน”

ทางด้าน บาทหลวง มาร์ติน เอสเซ็มปา ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านคนรักร่วมเพศได้นำสวดภาวนา ก่อนการพิจารณาคดีในศาลที่เนืองแน่นไปด้วยผู้ที่มารอลุ้นผลการตัดสิน โดยเขาเรียกร้องให้เหล่าผู้พิพากษาส่งเสริมกฎหมายฉบับนี้

เอสเซ็มปากล่าวเตือนว่า เขาวิตกว่า “ตุลาการเพิกถอนกฎหมายของเรา” เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากนานาชาติ และกล่าวว่า เขาจะอุทธรณ์คำตัดสินทันที

เขายืนกรานว่า “เราตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลสูงสุด”

ก่อนหน้านี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เปรียบเปรยกฎหมายฉบับนี้ว่าไม่ต่างอะไรไปจากกฎหมายต่อต้านยิวในยุคที่รัฐบาลนาซีปกครองเยอรมนี

บรรดานักวิจารณ์กล่าวว่า มูเซเวนีลงนามรับรองกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อเรียกคะแนนสนับสนุนจากประชาชนชาวยูกันดา ก่อนที่เขาจะลงสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2016 เพื่อชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศเป็นปีที่ 30

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่รัฐสภาผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมา บรรดาชาติตะวันตกก็ประท้วงด้วยการเลิกส่งความช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลยูกันดาเป็นจำนวนมหาศาล

เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้สถิติการจับกุมและทำร้ายเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กฌวล และคนข้ามเพศ (LGBT) ในยูกันดาเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ
เครือข่ายนักพิทักษ์สิทธิชาวสีม่วง และสมาชิกสมาคมเกย์ เลสเบียน ไบเซ็กฌวล และคนข้ามเพศ (LGBT) แสดงอากัปกิริยายินดีกับผลการตัดสินของศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น