เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจอเมริกันดีดกลับเข้าสู่ความกระปรี้กระเปร่าในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยมีอัตราเติบโตถึง 4% หลังจากที่เคยซบเซาในช่วงอากาศหนาวสุดขีดเมื่อต้นปี อย่างไรก็ดี แม้ข้อมูลนี้สนับสนุนการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการปรับลดการใช้มาตรการ QE ลงอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่คำแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ก็ระบุว่า ยังไม่คิดว่าสภาวะตลาดแรงงานเอื้ออำนวยสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานเมื่อวันพุธ (30 ก.ค.) ว่า เศรษฐกิจอเมริกันในรอบไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปีนี้ มีอัตราเติบโตขยายตัวเท่ากับปีละ 4% โดยเป็นผลจากการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการใช้จ่ายของภาครัฐ
พวกนักเศรษฐศาสตร์มองว่า รายงานของกระทรวงพาณิชย์นี้บ่งชี้ว่า อากาศที่หนาวเย็นรุนแรงและความเชื่อมั่นที่ตกต่ำลงในระดับพอประมาณในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ คือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจริงๆ
นอกจากนั้น รายงานของกระทรวงพาณิชย์ยังปรับตัวเลขอัตราเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกว่า หดตัวเพียง 2.1% จากที่ก่อนหน้านี้ระบุติดลบถึง 2.9% เช่นเดียวกับจีดีพีของตลอดปี 2013 ที่ผ่านมาก็ถูกปรับเพิ่มจาก 1.9% เป็น 2.2% เรื่องนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ตีความว่า เศรษฐกิจอเมริกันมีการปรับตัวกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนและมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างยั่งยืนในไตรมาสปัจจุบัน (ก.ค.-ก.ย. 2014)
ข้อมูลล่าสุดนี้ยังสนับสนุนเสียงเรียกร้องที่กำลังเพิ่มทวีขึ้น ให้เฟดเคลื่อนไหวเร็วขึ้นในการจัดการกับตลาดสินทรัพย์ที่เติบโตร้อนแรงเกินไป การลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นทุกที ตลอดจนการดีดตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ พวกสมาชิกสายเหยี่ยวในเอฟโอเอ็มซี ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับกับภาวะเงินเฟ้อ และเห็นว่าทางคณะกรรมการจำเป็นต้องเร่งแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ปัจจุบันยังคงอยู่ใกล้ 0% โดยดันขึ้นไปในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ชาร์ลส์ พลอสเซอร์ ผู้ว่าการเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความไม่พอใจการตัดสินใจด้านนโยบายของเอฟโอเอ็มซีเมื่อวันพุธ ภายหลังการประชุมนาน 2 วัน โดยเขากล่าวว่า การที่เฟดยังคงปล่อยนโยบายดอกเบี้ยต่ำสุดขีดแบบปลายเปิดต่อไปเช่นนี้ ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจที่กำลังกระเตื้องขึ้นแล้ว ซึ่งรวมถึงอัตราว่างงานที่ลดลงอย่างมาก และราคาผู้บริโภคที่ขยับขึ้น
กระนั้น เนื้อหาในคำแถลงของเอฟโอเอ็มซี ซึ่งออกมาในวันพุธ ยังคงเป็นไปตามความคาดหมายของตลาด นั่นคือระบุว่า เศรษฐกิจแข็งแกร่งเพียงพอที่จะดำเนินการลดการรับซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ลงอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ยังคงรับซื้อเพียงเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ และจะยุติการใช้มาตรการนี้ในเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น เอฟโอเอ็มซีเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการเติบโตต่อไปอีก “ชั่วระยะเวลาหนึ่ง” ภายหลังการยกเลิกมาตรการคิวอี
คำแถลงของเอฟโอเอ็มซียังแสดงอาการผิดหวังต่อตลาดแรงงาน โดยกล่าวว่า แม้อัตราว่างงานลดลงต่อเนื่อง แต่ข้อมูลหลายตัวบ่งชี้ว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแรงงานยังต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงอย่างมาก
ถึงแม้ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ระหว่างที่ เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ไปให้ปากคำต่อรัฐสภาตามวาระปกติ เธอได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการหยุดนิ่งของค่าจ้าง พนักงานนอกเวลาไม่สามารถหางานประจำทำได้ และคนว่างงานจำนวนมากที่ตกงานนานกว่า 6 เดือน
ทางด้าน เดวิด โจนส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดีเอ็มเค แอดไวเซอร์ส ชี้ว่า ข้อความใหม่เกี่ยวกับตลาดแรงงานในคำแถลงของเอฟโอเอ็มซีคราวนี้ แสดงให้เห็นว่า แนวทางสายพิราบของเยลเลนยังคงมีอิทธิพลภายในคณะกรรมการ
อย่างไรก็ตาม จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การที่คำแถลงเอฟโอเอ็มซีเลิกพูดแสดงความกังวลที่อัตราเงินเฟ้อต่ำยังคงต่ำอยู่
“คณะกรรมการมองว่าความเสี่ยงต่อแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอยู่ในภาวะเกือบจะสมดุลกัน และเห็นว่า แนวโน้มที่เงินเฟ้อทรงอยู่ต่ำกว่าระดับ 2% นั้นสิ้นสุดลงแล้ว” นี่เป็นข้อความในคำแถลงฉบับล่าสุดของเอฟโอเอ็มซี
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็แถลงในทำนองเดียวกันว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ขึ้นไปอยู่ที่ 2% ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
ทางด้าน พอล อิเดลสไตน์ นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอสเอส โกลบัล อินไซต์ ตีความว่า หากอัตราเงินเฟ้อยังขยับเดินหน้าต่อไป ถ้อยแถลงในอนาคตของเฟดน่าจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดกันไว้