xs
xsm
sm
md
lg

มะกัน-อียูแซงก์ชันรัสเซียรอบใหม่ “โอบามา” โวทำ ศก.หมีขาวทรุดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเจนซีส์ - สัมพันธ์ตะวันตก-รัสเซียถึงจุดพลิกผันสำคัญ หลังอเมริกา-ยุโรปรวมหัวลงโทษมอสโก โดยครั้งนี้พุ่งเป้าภาคการเงิน พลังงาน และกลาโหม โอบามาชี้เม็ดเงินเฉียดแสนล้านดอลลาร์ไหลออกจากแดนหมีขาวเรียบร้อย แนะปูตินเลิกป่วนยูเครนก่อนเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าที่เป็นอยู่ ด้านแมร์เคิลชี้เหตุกบฏโปรมอสโกสอย MH17 ตก ทำให้มาตรการแซงก์ชันครั้งนี้มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ระหว่างแถลงมาตรการลงโทษรัสเซียครั้งใหม่เมื่อวันอังคาร (29 ก.ค.) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยืนกรานว่าตะวันตกไม่ได้เริ่มสงครามเย็นรอบใหม่กับรัสเซีย แต่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กลับตัวกลับใจ โดยเตือนว่ามาตรการลงโทษครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจแดนหมีขาวที่ซวนเซอยู่แล้วยิ่งทรุดหนัก พร้อมกับยืนยันว่า วอชิงตันมีหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่า มอสโกยิงปืนใหญ่ใส่กองทหารยูเครน

ประมุขทำเนียบขาวเสริมว่า ขณะนี้ พันธมิตรสหรัฐฯ-ยุโรปมีความมุ่งมั่นมากขึ้นที่จะดำเนินการร่วมกันหลังเหตุการณ์ที่เครื่องบินในเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ ถูกกบฏแบ่งแยกดินแดนยูเครนตะวันออกที่รัสเซียติดอาวุธให้ ยิงตกเมื่อวันที่ 17 ที่ผ่านมา

“คาดกันว่า เม็ดเงินเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ไหลออกจากรัสเซียตั้งแต่ก่อนที่เราจะประกาศแซงก์ชันครั้งนี้ด้วยซ้ำ และตอนนี้ ภาคพลังงาน การเงิน และกลาโหมของรัสเซียกำลังจะรู้สึกถึงความเจ็บปวด” โอบามาขู่คำราม

เป้าหมายสำคัญของมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้แก่ วีทีบี แบงก์ และธนาคารในเครือคือ แบงก์ออฟมอสโก ตลอดจนรัสเซียน อกริคัลเจอรัล แบงก์ รวมถึงยูไนเต็ด ชิปปิง คอร์เปอเรชัน รัฐวิสาหกิจที่ผลิตเรือดำน้ำโจมตีและเรือรบ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้สินทรัพย์ราว 30% ของภาคการธนาคารรัสเซียถูกอายัดแล้ว

ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสินใจห้ามพลเมืองและธนาคารของตนซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ หรือหุ้นที่ออกโดยแบงก์ของรัฐบาลรัสเซีย ส่งผลให้แบงก์เหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกิจใหม่ๆ และหาเงินกู้ได้ยากลำบากขึ้นมาก จึงกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจแดนหมีขาว

อียูยังเล็งอายัดทรัพย์สินและห้ามออกวีซ่าเข้าอียูแก่นักธุรกิจ 4 คนที่ใกล้ชิดปูติน ซึ่งอาจประกาศรายชื่อในวันพุธ (30) และการแซงก์ชันรอบใหม่นี้จะเริ่มมีผลในวันศุกร์หรือเสาร์นี้ (1-2 ส.ค.)

เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานคณะมนตรียุโรปประกาศว่า มาตรการลงโทษครั้งนี้เป็น “คำเตือนหนักแน่น” และประณามรัสเซียกรณีการผนวกไครเมียโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนการจงใจบ่อนทำลายเสถียรภาพของยูเครน ซึ่งหากยังไม่ยุติการกระทำเหล่านี้ รัสเซียจะพบว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นจากพฤติกรรมของตัวเอง
เหตุกบฏโปรมอสโกสอย MH17ตก ทำให้มาตรการแซงก์ชันรอบใหม่จากสหรัฐฯและยุโรปมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ในยูเครนระเบิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บรัสเซลส์ได้จำกัดมาตรการตอบโต้ลงโทษรัสเซียเอาไว้แค่ที่ “เฟส 2” คือการอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่าผู้ที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตยูเครนหรือได้รับผลประโยชน์จากวิกฤต ซึ่งทั้งวอชิงตันและเคียฟต่างมองว่า ยังไม่เพียงพอ

แต่หลังโศกนาฏกรรม MH17 แม้แต่เยอรมนีและอิตาลีที่เคยต่อต้าน ยังกลับลำมาผลักดันขยายมาตรการแซงก์ชันเข้าสู่ “เฟส 3”

“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีกล่าวเมื่อวันอังคาร พร้อมเรียกร้องผู้นำเครมลินให้ความร่วมมือและยุติความปั่นป่วนวุ่ยวายในยูเครน

ที่ผ่านมา มอสโกเย้ยเยาะมาตรการแซงก์ชันของวอชิงตันและบรัสเซลส์มาตลอดว่า ไร้น้ำยาและอาจส่งผลกระทบกระเทือนผลประโยชน์ที่รัสเซียกับฝ่ายตะวันตกมีอยู่ร่วมกัน ดังเช่น การต่อสู้กับการก่อการร้าย และแม้กระทั่งถูกประณามจากนานาชาติกรณี MH17 ฝ่ายตะวันตกก็มองว่ามอสโกไม่สะทกสะท้าน อีกทั้งยังป้อนอาวุธให้กบฏในยูเครน

ในวันพุธ ธนาคารกลางของรัสเซียได้ออกคำแถลงทางออนไลน์ให้สัญญาว่าจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือสถาบันที่เป็นเป้าหมายการลงโทษของตะวันตก

ขณะเดียวกัน แม้มาตรการลงโทษมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจแดนหมีขาว รวมถึงบรรดานักธุรกิจใหญ่ที่เป็นคนวงในของปูตินหนักหน่วงที่สุด ทว่า มีเสียงเตือนว่า เศรษฐกิจยุโรปเองอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ที่สุดและคู่ค้าสำคัญของยุโรป

อย่างไรก็ดี อียูพยายามลดผลกระทบที่จะย้อนกลับมาหาตัวเอง ด้วยการระบุว่ามาตรการลงโทษระลอกใหม่จะไม่มีผลต่อสัญญาที่ทำไปแล้ว หมายความว่า ฝรั่งเศสยังคงจัดส่งเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำให้รัสเซียตามออร์เดอร์ได้ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติของรัสเซียยังรอดพ้นจากการลงโทษ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับยุโรป

นักการทูตอียูบางคนหวั่นใจว่า มาตรการลงโทษอาจทำให้ปูตินรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเสียอีกต่อไป และเดินหน้าป่วนยูเครนหนักขึ้น ทว่า นักการทูตคนหนึ่งมองต่างมุมว่า ปูตินน่าจะเลือกยุยงให้ยุโรปแตกแยกกันเอง ซึ่งจะถือเป็นบททดสอบความสามัคคีของอียู

ขณะเดียวกัน การปะทะดุเดือดในยูเครนตะวันออกระหว่างกองกำลังเคียฟกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซีย ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ MH17 ตก โดยทางประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโกของยูเครน ได้ขอให้เบลารุสจัดหารือระหว่างผู้แทนรัสเซียและยูเครน เกี่ยวกับการเข้าถึงที่เกิดเหตุดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น