เอเอฟพี - ลิ่น หรือตัวนิ่ม (pangolins) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเกล็ดแข็งหุ้มลำตัว กำลังถูกล่าเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารเสิร์ฟตามงานเลี้ยงทั่วทั้งเอเชีย จนทำให้สัตว์ชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์เต็มที นักอนุรักษ์เผยวันนี้ (29 ก.ค.)
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ลิ่นตกเป็นเหยื่อมนุษย์ผู้ล่าและถูกจับออกจากป่าไปมากกว่า 1 ล้านตัว
“ในศตวรรษที่ 21 มนุษย์เราไม่ควรกินสัตว์สายพันธุ์ไหนจนถึงขั้นสูญพันธุ์ ไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะปล่อยให้การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเช่นนี้ดำเนินต่อไป” โจนาธาน เบลลี ประธานร่วมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านลิ่นจากคณะกรรมการด้านการอยู่รอดของสายพันธุ์ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผย
“ลิ่นทั้ง 8 ชนิดถูกขึ้นบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากความนิยมรับประทานสัตว์ชนิดนี้ในจีนและเวียดนาม” เบลลีระบุในถ้อยแถลง
นอกจากจะเป็นอาหารชั้นเลิศแล้ว การลักลอบค้าลิ่นยังเฟื่องฟูเป็นพิเศษเนื่องจากมันถูกใช้เป็นเครื่องยาจีนรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และฟื้นฟูระบบไหลเวียนเลือด
ลิ่น จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตกเป็นเหยื่อการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย และทำให้ ไอซียูเอ็น ต้องเร่งรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ทั้งในเอเชียและแอฟริกา
“จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ รัฐบาลจีนและเวียดนามควรสำรวจประชากรลิ่นในประเทศ และเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบเพื่อพิสูจน์ว่า ลิ่นที่ถูกจับออกจากป่าไม่ได้ตกเป็นเหยื่อการค้าผิดกฎหมาย” แดน แชลเลนเดอร์ ประธานร่วมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านลิ่น ซึ่งมีฐานที่สมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอนกล่าว
นักอนุรักษ์พยายามต่อต้านการล่าสัตว์ในอันดับลิ่น เพราะไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นมานานถึง 80 ล้านปีชนิดนี้ต้องสูญหายไปจากโลก
ลิ่นซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนและกินแมลงเป็นอาหาร จะมีน้ำหนักตัวระหว่าง 2-35 กิโลกรัม และยาวประมาณ 30-80 เซนติเมตร สายพันธุ์ขนาดใหญ่อาจมีความยาวได้ถึง 1.5 เมตร