xs
xsm
sm
md
lg

‘ชาวบ้าน’ ปากีสถานทุกข์ยากสาหัสเมื่อ ‘กองทัพ’ รุกโจมตี ‘ตอลิบาน’

เผยแพร่:   โดย: อัชฟัก ยูซุฟไซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Offensive uproots Pakistani families
By Ashfag Yusufzai
25/06/2014

ในขณะที่ชาวปากีสถานจำนวนมากแสดงความยินดีต้อนรับการที่รัฐบาลเปิดการรุกครั้งใหญ่ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเข้ากวาดล้างที่มั่นต่างๆ ของพวกนักรบหัวรุนแรงในเขตวาซิริสถาน แต่ในเวลานี้ พวกชาวบ้านผู้ยากไร้ก็กำลังกลายเป็นผู้ที่ต้องแบกรับผลกระทบของการโจมตีเช่นนี้กันอีกครั้งหนึ่ง ครอบครัวจำนวนมากมายจำใจต้องละทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินของพวกเขา แถมคำสั่งห้ามอันเข้มงวดของพวกตอลิบานปากีสถาน ที่ไม่ให้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็ทำให้ชะตากรรมของพวกเขายากลำบากแสนสาหัสยิ่งขึ้นอีก

เปชาวาร์, ปากีสถาน - เชากัต อาลี (Shaukat Ali) เคยเป็นเจ้าของร้านค้าอยู่ในท้องที่ มิรัมชาห์ (Miramshah) ของเขตนอร์ทวาซิริสถาน (North Waziristan Agency) ใน “พื้นที่ชนพื้นเมืองซึ่งส่วนกลางบริหาร” (Federally Administered Tribal Areas ใช้อักษรย่อว่า FATA) ของปากีสถาน เวลานี้เขาดูมีท่าทางเหนื่อยอ่อนหมดแรง ขณะนั่งอยู่ด้านนอกของเพิงพักชั่วคราวพร้อมกับสมาชิกครอบครัวของเขาที่มีจำนวน 10 คน พวกเขาเดินทางกันมาตลอดทั้งวันเต็มๆ เพื่อให้ถึงบ้านเล็กๆ หลังนี้ ซึ่งอยู่นอกเมืองเปชาวาร์ (Peshawar) เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa ใช้อักษรย่อว่า KP) ที่มีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน และบัดนี้พวกเขาก็นับตัวเองเข้าร่วมชะตากรรมเดียวกันกับผู้ลี้ภัยพลเรือนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนคน ซึ่งกำลังหลบหนีให้ห่างไกลออกมาจากการรุกครั้งใหญ่เต็มสตีมของกองทัพปากีสถาน ที่ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้ว่าจะขุดรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลายให้ออกไปจากบรรดาพื้นที่เขตเขาริมชายแดนของประเทศ

อาลีเล่าให้สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ฟังว่า สถานการณ์ในวาริสถาน ภูมิลำเนาของเขาซึ่งถือเป็นที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของพวกตอลิบาน กำลังอยู่ในสภาพที่ “น่าสังเวชใจ” ในขณะที่ครอบครัวจำนวนมากต่างพากันตัดใจทอดทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ ทั้งหมด เพื่อหลบหนีให้พ้นจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพปากีสถาน ทั้งนี้การปฏิบัติการของฝ่ายทหารซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างเอาจริงเอาจังในวันที่ 15 มิถุนายน กำลังส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการขาดแคลนอาหารและผู้คนต่างพากันแตกตื่นหวาดผวา

“พวกเราเดินทางด้วยการเดินเท้าเป็นเวลาถึง 5 ชั่วโมง จึงไปถึงจุดที่สามารถว่าจ้างรถซึ่งพามายังเปชาวาร์ได้ แล้วจากที่นั่นเราก็ต้องเดินทางต่ออีกจนกระทั่งถึงบานนู (Bannu เป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งในแคว้น KP) นี่” ชายผู้มีท่าทางกระสับกระส่ายกระวนกระวายผู้นี้เล่าต่อ

“ลูกชายของผม 3 คนจากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 คน ต่างไม่สบายมีไข้สูงในระหว่างการเดินทาง และเราก็ไม่มีเงินทองที่จะไปหาหมอหรือไปซื้อยา” อาลีบอก

คาดหมายได้ว่าประชาชนผู้พลัดถิ่นคนอื่นๆ อีก 100,000 คน ซึ่งเวลานี้พักอาศัยอยู่ตามเต็นท์ที่รัฐบาลจัดหาให้จำนวน 65,000 หลังในพื้นที่แคว้น KP ก็กำลังประสบกับความทุกข์ยากลำบากทำนองเดียวกัน และก็มีจำนวนมากทีเดียวกำลังส่งเสียงร่ำร้องเล่าขานเรื่องราวการหลบหนีของพวกเขาเองให้คนอื่นๆ รับฟัง

มีบางคนบอกว่าพวกเขาออกมาจากวาซิริสถานด้วยรถอีแต๋น โดยไม่ได้นำอะไรติดตัวมาเลยนอกจากเสื้อผ้าที่ใส่ถุงใส่เป้แบกอยู่บนหลังของพวกเขาเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ เอาข้าวของจำเป็นพื้นฐานที่สุดมามัดเป็นห่อขนาดย่อมๆ นำขึ้นเกวียนเทียมลา และทอดทิ้งสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดเอาไว้ข้างหลัง เนื่องจากเกรงว่าลาของพวกเขาจะต้องรับภาระหนักเกินกำลัง

จำนวนมากทีเดียวต้องจากมาอย่างเร่งร้อน จนกระทั่งพวกเขาพลัดหลงกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

ไซนับ คะตูน (Zainab Khatoon) หญิงขี่ม้าจากวาซิริสถาน เดินทางมาถึงเมืองบานตู พร้อมกับลูกๆ ของเธอ 2 คน แต่ไม่ทราบเลยว่าสามีของเธอพร้อมกับลูกชายคนโตเวลานี้อยู่ที่ไหน

“ทันทีที่มีการผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์ที่รัฐบาลประกาศใช้ พวกเราก็รีบหลบหนีออกมายังบานนู” สตรีวัย 42 ปีผู้นี้เล่าให้สำนักข่าว ไอพีเอส ฟัง “ผัวของฉันกับลูกชายคนโตยังคงรออยู่ข้างหลัง เพื่อคอยรับพวกอาหารปันส่วนอย่างเช่น ขนมปังกรอบ, ข้าว, ใบชา, และน้ำมัน จากร้านค้าท้องถิ่นของเรา แต่นี่เวลาก็ผ่านไป 3 วันแล้ว พวกเขายังมาไม่ถึงเสียที” เธอคร่ำครวญอย่างสร้อยเศร้า

ยังมีคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่บอกกับสำนักข่าว ไอพีเอส ว่า พวกเขาพลัดหลงกับผู้เป็นที่รัก ในระหว่างความสับสนปั่นป่วนวุ่นวายเช่นเดียวกัน

ทางด้าน จาวัด อาเหม็ด (Jawad Ahmed) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของค่ายผู้ลี้ภัย กล่าวสารภาพกับสำนักข่าว ไอพีเอส ว่า “เรากำลังรู้สึกเป็นห่วงจริงๆ เกี่ยวกับญาติๆ ที่หายตัวไปของประชาชนเหล่านี้” พร้อมกับกล่าวเสริมว่า พวกที่เดินทางมาถึงแล้วจำนวนมากทีเดียวรู้สึกหวาดกลัวไม่อยากจะมาจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผวาว่ามันจะเป็นการละเมิดคำสั่งของพวกตอลิบาน ซึ่งห้ามไม่ให้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน จำนวนของผู้พลัดถิ่นก็พุ่งลิ่วถึงระดับ 394,000 คน และเข้าใจกันว่ายังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากซึ่งตัดสินใจข้ามพรมแดนเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพราะเห็นว่าถ้าหากหลบหนีมายังแคว้น KP ก็จะต้องประสบปัญหาขาดแคลน “ทั้งไฟฟ้า, น้ำกินน้ำใช้, อาหาร, และข้าวของเครื่องใช้ทางการแพทย์ต่างๆ” อยู่ดี มูฮัมหมัด รอฮิม (Muhammad Rahim) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานบริหารภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Management Authority) บอกกับสำนักข่าว ไอพีเอส

นอกเหนือจากบานนูแล้ว จุดหมายปลายทางในแคว้น KP ซึ่งเป็นที่นิยมของพวกผู้พลัดถิ่นมากที่สุด ดูจะได้แก่ ลัคคิ มาร์วัต (Lakki Marwat,), แทงค์ (Tank), คารัค (Karak), และ ฮานกู (Hangu)

“จนถึงตอนนี้แคว้น KP รับผู้ลี้ภัยเอาไว้มากกว่า 7,000 ครอบครัว หรือถ้านับเป็นจำนวนคนก็ใกล้ๆ 100,000 คนแล้ว” เจ้าหน้าที่ผู้มีนามว่า ซัจจิด ข่าน (Sajjid Khan) บอกกับสำนักข่าว ไอพีเอส พร้อมกับเสริมว่ามีบางครอบครัวกำลังพยายามเดินทางลงใต้มุ่งสู่เมืองใหญ่ๆ ทางนั้นอย่างเช่น ละฮอร์ และ การาจี

ในการเตรียมการณ์ล่วงหน้าก่อนที่กองทัพจะเปิดการรณรงค์ทางการทหารอันยืดเยื้อคราวนี้ รัฐบาลได้จัดสรรเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อใช้บรรเทาทุกข์ประชาชนที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ โดยจะเป็นงบประมาณในการก่อสร้างที่พักอาศัย, ห้องสุขา, และกระทั่งอาจจะมีโรงเรียนสำหรับเยาวชนด้วย

ชัวอิบ สุลต่าน (Shoaib Sultan) นักวิเคราะห์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเปชาวาร์ เชื่อว่าการปฏิบัติการทางทหารคราวนี้ไม่น่าจะยุติลงในเร็ววัน และประชาชนก็ต้องเผชิญชะตาชีวิตอันยากลำบาก

“อากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิอยู่ในระดับสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ยิ่งสร้างความทุกข์ยากลำบากให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว จำนวนมากทีเดียวต้องขอเข้าพักตามร่มเงาของต้นไม้ข้างถนนนั่นเอง” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

การปฏิบัติการของกองทัพคราวนี้ ซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า ยุทธการซาร์บ-อี-อัสบ์ (Zarb-e-Asb แปลว่า การโจมตีด้วยดาบของศาสดามุฮัมมัด) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ของรัฐบาล จากการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ได้เข้าโจมตีท่าอากาศยานนานาชาติการาจีเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 18 ราย

ขณะที่มีคนจำนวนมากแสดงความยินดีต้อนรับการที่รัฐบาลหันมาใช้วิธีการอันรุนแรงแข็งกร้าวเพื่อจัดการกับการก่อการร้ายซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกชาวบ้านผู้ยากไร้นั่นแหละ คือผู้ที่กำลังแบกรับผลพวงอันเลวร้ายของการโจมตีปราบปราม เฉกเช่นที่พวกเขาต้องประสบอยู่เสมอในช่วงระยะเวลาร่วมๆ 1 ทศวรรษมานี้

นักการเมืองบางคน เป็นต้นว่า อิมรอน ข่าน (Imran Khan) แห่งพรรคเตห์รีค-อี อินซาฟ (Pakistan Tehreek-e Insaf ซึ่งแปลว่า ขบวนการเพื่อความยุติธรรมแห่งปากีสถาน Pakistan Movement for Justice) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการปฏิบัติการทางทหารเอาไว้ก่อน จนกว่าชาวบ้านจะสามารถอพยพออกไปอย่างปลอดภัยแล้ว

ปัญหาคนพลัดถิ่นยิ่งเพิ่มปัญหาที่อยู่อาศัยขาดแคลน

ตั้งแต่ปี 2005 กองทัพได้ใช้ความพยายามอยู่เป็นครั้งคราวเพื่อกวาดล้างพวกผู้ก่อความไม่สงบให้ออกไปจากพื้นที่แถบชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน อาณาบริเวณแถบนี้ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน จึงเหมาะแก่การใช้เป็นฐานที่มั่นของพวกสมาชิกกลุ่มตอลิบาน ซึ่งกำลังหลบหนีกองทหารสหรัฐฯที่บุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน

บรรดาพลเรือนในบริเวณเหล่านี้ อยู่ในสภาพที่ต้องตกอยู่หว่างกลางกองทัพกับพวกนักรบหัวรุนแรง และถูกบังคับให้ถอยหนีออกมาจากเขตพื้นที่ชนพื้นเมืองทั้งหมด

การอพยพของมวลชนอันมหาศาลดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแทบจะไม่ขาดตอนเลยตลอดระยะเวลาเกือบๆ 9 ปี รวมๆ แล้วมีประชาชนถึง 2.1 ล้านคนทีเดียวซึ่งพากันหลบหนีออกจากบ้านเรือนของพวกเขาซึ่งอยู่ในพื้นที่ FATA โดยที่ส่วนใหญ่พากันถอยมาอยู่ในแคว้น KP ซึ่งเป็นภูมิภาคเพื่อนบ้านประชิดติดกัน และนั่นทำให้พวกเจ้าหน้าที่ของแคว้น KP ต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อสนองความจำเป็นพื้นฐานด้านต่างๆ ของผู้พลัดถิ่นเหล่านี้

ผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากพำนักอาศัยภายใต้สภาพเงื่อนไขอันน่าเวทนามาเป็นปีๆ แล้ว พวกเขาต้องอยู่กันตามกระท่อมทำจากดินโคลนหรือไม่ก็เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และแทบไม่ได้รับแจกจ่ายอาหาร และน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ ตลอดจนขาดไร้การสุขาภิบาลที่ถูกต้องเหมาะสม

น.พ.ฟายาซ อาลี (Dr Fayaz Ali) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แสดงความวิตกกังวลว่า กระแสผู้ลี้ภัยระลอกล่าสุดนี้อาจจะหมายความว่า ปากีสถานหมดความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals ใช้อักษรย่อว่า MDGs) ซึ่งหมายถึงเป้าหมายในการลดความยากจนชุดหนึ่งที่ตกลงร่วมกันโดยบรรดาประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยที่หนึ่งในนั้นก็คือการลดจำนวนผู้ที่อยู่อาศัยในสลัมให้ได้ 100 ล้านคนภายในปี 2015

“ผู้คนที่ถูกสงครามถอนรากถอนโคนออกจากถิ่นที่เคยพำนักอาศัย ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหลบหนีมาพักพิงกันตามชุมชนแออัด” อาลีบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

ตั้งแต่ก่อนหน้าการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยระลอกล่าสุด บานนูก็กำลังเป็นเจ้าภาพรับรองครอบครัวผู้พลัดถิ่นประมาณ 50,000 ครอบครัวอยู่แล้ว

พวกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในเมืองนี้พูดกันว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยกำลังอยู่ในภาวะพุ่งสูงลิ่วอยู่แล้ว โดยมีการแย่งชิงกันหนักหน่วงเพื่อให้ได้ที่พักอาศัยไม่กี่แห่งที่เกิดว่างขึ้นมา ส่วนพวกที่มีเงินทองไม่พอที่จะอาศัยในบ้านเรือนธรรมดา ก็ต้องหันไปอยู่กันตามกระท่อมดินโคลน

พวกเจ้าหน้าที่ชี้ว่า เวลานี้เรียกได้ว่าไม่มีที่ว่างใดๆ เหลืออยู่สำหรับใช้เป็นที่พำนักของพวกผู้อพยพลี้ภัยที่ยังคงหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ โดยที่ตอนนี้พวกเขาจำนวนมากกำลังเข้าไปยึดครองโรงเรียนรัฐบาลแห่งต่างๆ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงของโรคระบาดซึ่งอาจเกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีคนอาศัยจนเต็มล้น

“เรากำลังพยายามเยียวยารักษาประชาชนผู้พลัดถิ่น ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคที่มาจากอาหารและน้ำดื่ม” เรห์มัต ชาร์ (Rehmat Shar) นายแพทย์ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ที่บานนู บอก

“เราตรวจคนไข้ประมาณ 650 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 200 คนและเด็ก 300 คน คนไข้เหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องการได้น้ำกลับคืนเข้าสู่ร่างกาย สืบเนื่องจากต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่ไร้ความเมตตาปรานีจริงๆ” ชาห์ ผู้ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์กลางของเขตนี้ บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

“สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราตอนนี้ทุกข์ยากลำบากจริงๆ” นี่เป็นคำยืนยันของ วาฮิดุลเลาะห์ ข่าน (Wahidullah Khan) ผู้เคยเป็นชาวเมืองมีร์ อาลี (Mir Ali) ในเขตนอร์ทวาซิลิสถาน ซึ่งรีบอพยพพาครอบครัวสมาชิก 8 คนของเขามายังบานนู ในทันทีที่กองทัพเปิดการปฏิบัติการทางทหารล่าสุดนี้

“พวกเราต้องอยู่กันในบ้านหลังนิดเดียวที่ทำจากดินโคลนและก้อนหิน ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้” อาลีบอก “ลูกๆ ของผมต้องเดินกันไกลมากเพื่อไปเอาน้ำมากินมาใช้”

ทั้งเขาและภรรยาบอกว่า พวกเขาทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้เบื้องหลัง เมื่อตอนที่หลบหนีออกมา และเวลานี้กำลังขบคิดหาหนทางกันว่า จะเริ่มต้นชีวิตของพวกเขาต่อไปอย่างไรในสภาพที่สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเช่นนี้

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น