xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เมืองเบียร์วอนสหรัฐฯ “เปลี่ยนพฤติกรรม” หลังพบ จนท.เยอรมันเป็น “หนอนบ่อนใส้” ให้ CIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในการแถลงข่าว ณ ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ได้แสดงความรู้สึกเสียใจวานนี้ (12 ก.ค.) ภายหลังถูกสหรัฐฯ ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองในเมืองเบียร์ขายความลับให้แก่วอชิงตัน จนเป็นเหตุให้เยอรมนีตอบโต้ด้วยการไล่ตะเพิดหัวหน้าหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ประจำกรุงเบอร์ลินออกจากประเทศ

เธอให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีดีเอฟของเยอรมนี ว่า “สิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอ เวลาทำงานร่วมกันคือ หากบุคคลที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา แอบทำงานให้คนอื่นไปพร้อมๆ กับทำงานให้เรา ดิฉันคิดว่า นั่นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่น่าไว้วางใจ”

แมร์เคิลระบุว่า “ที่นี่ เรามีมุมมองที่ต่างออกไป และเราจำเป็นต้องพูดคุยกับอีกฝ่าย” พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่าเธอ “ค่อนข้างคาดหวังให้ (วอชิงตัน) เปลี่ยนแปลง” พฤติกรรม

การตัดสินใจขับหัวหน้าข่าวกรองสหรัฐฯ ออกจากเยอรมนีในวันพฤหัสบดี (10) เกิดขึ้นภายหลังมีการเปิดโปงคดีสอดแนมถึงสองคดีซ้อนในสัปดาห์เดียวกัน จนจุดชนวนให้เบอร์ลินโกรธแค้นรุนแรงขึ้นอีก ภายหลังเมื่อปีที่แล้ว มีการเปิดเผยว่า วอชิงตันลอบล้วงข้อมูลโทรศัพท์มือถือของแมร์เคิลมาแล้ว

จากกรณีอื้อฉาวครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมันเมื่อวันพุธ (9) ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักและสำนักงานในกรุงเบอร์ลิน ของชายคนหนึ่ง ซึ่งสื่อเมืองเบียร์รายงานว่า เป็นลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมเยอรมนีที่ถูกกล่าวหาว่าลอบส่งข้อมูลลับให้สหรัฐฯ

นอกจากนี้ เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อน ตำรวจเยอรมันได้รวบตัวเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันวัย 31 ปี ของสำนักข่าวกรองกลางต่างประเทศของเยอรมนี (บีเอ็นดี) เนื่องจากต้องสงสัยว่า ขายเอกสารกว่า 200 ฉบับให้แก่ซีไอเอ

แม้ว่าแมร์เคิลจะวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของซีไอเอ แต่เธอก็ยังหวังว่า สายสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างเมืองเบียร์กับแดนอินทรีย์จะได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง

แมร์เคิล กล่าวว่า “เราไม่ได้อยู่ในยุคสงครามเย็น ช่วงเวลาที่ทุกคนเอาแต่ระแวงสงสัยกัน ดิฉันคิดว่าการทำงานด้านข่าวกรองในศตวรรษที่ 21 ควรมุ่งเน้นที่เรื่องสำคัญๆ เรากับชาวอเมริกันทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาก และดิฉันหวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้นต่อไป”
(ภาพจากแฟ้ม) อาคารใหม่ของสำนักข่าวกรองกลางเยอรมนี (บีเอ็นดี) ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
*** ความเชื่อใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน ***

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา วอชิงตันได้ส่งสัญญาณเป็นนัยว่า ไม่พอใจที่เยอรมนีตัดสินใจตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขับไล่หัวหน้าหน่วยซีไอเอประจำกรุงเบอร์ลินออกนอกประเทศจนเป็นข่าวครึกโครม ซึ่งไม่ใช่วิธีการปกติที่เยอรมนีใช้แสดงความไม่พอใจต่อชาติพันธมิตร

จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธไม่ขอชี้แจงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องภายในแวดวงข่าวกรอง ได้ออกมาแถลงแทนสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (11)

เออร์เนสต์ กล่าวว่า “ชาติพันธมิตรที่มีสำนักข่าวกรองช่ำชองอย่างสหรัฐฯ และเยอรมนี ต่างเข้าใจดีในระดับหนึ่งว่า ความสัมพันธ์และกิจกรรมด้านข่าวกรองในรูปแบบเหล่านั้นมีขึ้นเพื่อสิ่งใด”

“วิธีการที่การแก้ไขความขัดแย้งที่ได้ผลที่สุดคือกระทำผ่านช่องทางส่วนตัว ไม่ใช่กระทำผ่านสื่อ”

นอกจากนั้น กรณีอื้อฉาวระลอกนี้ยังทำให้ผู้นำหญิงถูกกดันหนักจากการเมืองในประเทศ โดยนักการเมืองเยอรมันจำนวนมากต่างเรียกร้องให้แมร์เคิลตอบโต้สหรัฐฯ อย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เธอเน้นย้ำว่า ภารกิจจารกรรมจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงทางการค้าภาคพื้นแอตแลนติก ระหว่างเบอร์ลินกับวอชิงตัน

ทั้งนี้ ทั้งสองชาติได้ร่วมกันดำเนินนโยบายการต่างประเทศ และปฏิบัติภารกิจด้านข่าวกรองกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงภารกิจที่สำคัญยิ่งอย่างการสืบหาและขัดขวางแผนก่อการร้าย

ในอดีต เยอรมนีได้เพียรพยายามหาทางบรรลุข้อตกลง “ห้ามสอดแนมโดยเด็ดขาด” กับวอชิงตัน ซึ่งคล้ายกับข้อตกลงที่สหรัฐฯ ทำร่วมกับออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา และ นิวซีแลนด์ ทว่ารัฐบาลอเมริกันกลับคัดค้านแผนการดังกล่าวที่อาจกลายเป็นมาตรฐานให้ประเทศอื่นๆ ออกมาเรียกร้องทำตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น