เอเจนซีส์/เอเอฟพี - แอฟริกาใต้เดินหน้าประกาศมาตรการออกหนังสืออนุญาตเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยการให้นักท่องเที่ยวต้องยื่นขอเป็นการส่วนตัว “ ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล หวังเพื่อคุมเข้มระบบความปลอดภัยและลดปัญหาการลักลอบค้าเด็ก ซึ่งมาตรการวีซ่าใหม่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ทำขึ้นอย่างเร่งด่วนหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ รวมไปถึงอัตราาว่างงานสูงลิ่วในประเทศ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวในแอฟริกาใต้ เช่น ชาวซิมบับเวจำนวนหลายแสนคนได้รับผลกระทบหนัก อาจถึงขึ้นถูกส่งตัวกลับระเทศ
มาตรการใหม่ของแอฟริกาใต้สำหรับนี้ที่มีเป้าประสงค์เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และลดปัญหาลักลอบค้าเด็กข้ามชาติ โดยกำหนดกฎเกณ2 มาตรการเข้มสำหรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้มาตรการแรก นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ปกครองประสงค์นำบุตรหลานเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องนำหลักฐานสูติบัตรขนาดย่อตัวจริงสำหรับเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และทั้งนักเดินทางที่เป็นพลเมืองแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องให้ข้อมูลรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบิดามารดาของเด็ก
และมาตรการที่สอง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องร้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องยื่นด้วยตัวเองขอรับ “ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือ หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ รวมถึงสายการบิน บริษัททัวร์ เกรงว่ามาตรการเข้มงวดนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ในระดับโลก และพยายามล็อบบี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎเหล็กนี้เลือนออกไป 12 เดือน โดยเกรงว่าจะมีผลกระทบหนักสุดในตลาดการท่องเที่ยวของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน และ อินเดีย
เช่นในจีน พบว่ามีแค่ 2แห่งในกรุงปังกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะสามารถเดินทางด้วยตนเองเพื่อร้องขอ ไบโอเมตริก วีซ่าเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ได้ และพบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวแอฟริกาใต้นั้นอาศัยอยู่นอกกรุงปักกิ่ง และเซียงไฮ้ ดังนั้นเมื่อมาตรการใหม่บังคับใช้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนต้องจัดสรรค์เวลาและเงินเพื่อยื่นขอวีซ่าแบบใหม่นี้ ไมเคิล โทลแมน (Micheal Tollman) ซีอีโอของ คูลินาน โฮลดิงส (Cullinan Holdings) ให้สัมภาษณ์กับเมล และการ์เดียน สื่ออังกฤษ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2014 เพื่อบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ และทำให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยมีเวลามากพอเพื่อหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้โดยไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวท้องถิ่น
แต่ทว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแอฟริกาใต้มีแผนขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอย่างน้อย 12 เดือน
สภาการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้(TBCSA) ที่ควบคุมธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้ยื่นจดหมายถึงมาลูซี กิกาบา (Malusi Gigaba) รัฐมนตรีมหาดไทยแอฟริกาใต้ ร้องขอให้มีการยกเลิก หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไป และโอกาสที่จะยื่นขออุทธรณ์ในมาตรการใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม กิกาบากล่าวว่า ทางกระทรวงยินดีรับฟังในผลที่จะตามหลังจากมีการบังคับใช้ และยังกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถประกาศใช้มาตรการใหม่ที่ประสบความสำเร็จ 100% ในครั้งแรก
ด้านดีเรค ฮาเนกอน (Derek Hanekon) รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์ที่ผ่ามาว่า ทางกระทรวงพยายามจะป้องกันถึงผลกระทบที่ตามมาหลังจากการประกาศใช้ และกำลังอยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทยของแอฟริกาใต้ในการหาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องนี้
นอกจากนี้ มาตรการไบโอเมตริก วีซ่า ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้นหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในแอฟริกาใต้ในเดือนมิถุนายนล่าสุด นั้นไม่กระทบเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางเข้ามาในแอฟริกาใต้เป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ยังมีผลกับแรงงานต่างด้าว เช่น ชาวซิมบับเวที่มีหลายแสนคนอยู่ในแอฟริกาใต้อีกด้วย เพราะนโยบายนี้ต้องการระบุให้แน่ชัดระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศแดนกาฬทวีปเป็นระยะเวลาอันสั้น และผู้ต้องการพำนักถาวรในแอฟริกาใต้ เช่น แรงงานซิมบับเวจำนวน 250,000 คน ที่ลี้ภัยจากสงครามการเมืองและความอดอยากหลังการเลือกตั้งทั่วไปในซิมบับเวปี 2008 จะต้องหาทางต่ออายุใบอนุญาตการพำนักและทำงานในแอฟริกาใต้หลังจากที่สิทธิการพำนักจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
ซึ่งแอฟริกาใต้ถือเป็นฮับของกาฬทวีปสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการอาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่มาจาก คองโก โซมาเลีย ไนจีเรีย และซิมบับเว ล้วนต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ทั้งสิ้น
เอเอฟพีรายงานวันนี้(10)ว่า นโบายใหม่ยกเครื่องตรวจคนเข้าเมืองของแอฟริกาใต้นี้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังเสร็จศึกเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2014 เพื่อแก้ปัญหาแอฟริกาใต้ที่ต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่สูงลิ่วทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งหามาตรการอุดช่องโหว่
โดยกิกาบาที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ให้สัมภาษณ์ว่า “แรงงานต่างด้าวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า เช่น ชาวซิมบับเวที่แห่เข้ามาเพื่อขอที่ลี้ภัยนั้น ทางรัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องถามกลับว่า ในขณะนี้มีสงครามเกิดขึ้นในซิมบับเวที่ชาวซิมบับเวจำเป็นต้องยื่นขอที่ลี้ภัยในแอฟริกาใต้หรือไม่”
แต่จากปัญหาเศรษฐกิจทรุดหนักของซิมบับเวที่มีอัตราว่างงานสูงถึง 80% และประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) มีชัยกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกสมัย เป็นผลทำให้ชาวซิมบับเวส่วนใหญ่ลังเลที่จะอพยพกลับ
ปัญหานโยบายตรวจคนเข้าเมืองใหม่ยังส่งผลถึงชาติตะวันตกที่ต้องการยื่นขอพำนักอยู่ในแอฟริกาใต้อีกด้วย
แพทย์หญิงเยอรมันผู้หนึ่งต้องรอถึงครึ่งปีเพื่อรอคำตอบอนุญาตการอนุมัติขอพำนักอยู่ในแอฟริกาอย่างถูกต้อง หลังจากที่เธอถูกสั่งห้ามเดินทางกลับไปยังแอฟริกาใต้อีกครั้งนาน 5 ปีเพราะเธออยู่ในแอฟริกาใต้เกินกำหนดจากวีซ่านักท่องเที่ยว และนอกจากนี้ยังพบว่าหญิงชาวอังกฤษต้องพรากจากสามีและลูกน้อยวัย 18 เดือน รอที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เพื่อขอพำนักในแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการหลังจากอาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้เกินกำหนดจากวีซ่านักท่องเที่ยวด้วยเหตุผลเดียวกับแพทย์หญิงเยอรมัน
ทั้งนี้ตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองใหม่ของแอฟริกาใต้กำหนดให้ ชาวต่างด้าวที่ต้องการขอยืดระยะเวลาการพำนักอยู่ในแอฟริกาใต้ออกไป ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดก่อนเพื่อยื่นคำร้อง
“การส่งตัวแรงงานชาวซิมบับเวร่วม 250,000 คน กลับประเทศเพียงเพื่อรอขอต่ออายุการอาศัยอยู่ต่อในแอฟริกาใต้ ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย” เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทนายความประจำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต่อต้านความทรมาน กดขี่ และยากจน (the People Against Suffering, Oppression and Poverty)กล่าว และเสริมต่อว่า “กลุ่มคนเหล่านี้จะยังคงรักษางานที่พวกเขาเหล่านั้นมีในแอฟริกาใต้ได้อย่างไร และไม่รู้ว่ากระบวนการอนุมัติต้องใช้เวลานานเท่าใด” ซึ่งซาชา มาดิปา ( Sascha Madipa) วัย 28 ปี แรงงานชาวซิมบับเวในย่านใจกลางเมืองกรุงโจฮันเนสเบิร์ก ให้สัมภาษณ์ว่า “เหมือนกับว่าทางแอฟริกาใต้กำลังไล่พวกเรากลับไป พวกเขากำลังฆ่าพวกเรา”