รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - คนงานชาวแคเมอรูนที่ทำงานในธุรกิจการขนส่งทั่วประเทศออกคำแถลงร่วมในวันพุธ (2 ก.ค.) ขู่นัดหยุดงานประท้วงในสัปดาห์หน้า หลังรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี “ปอล บิยา” ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนค่าเชื้อเพลิง
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบิยาประกาศในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนด้านพลังงานทุกรูปแบบทั้งเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม จนส่งผลราคาเชื้อเพลิงทั้งสองประเภทปรับพุ่งขึ้นทันทีระหว่าง 14-15 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐบาลออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบการขนส่งขึ้นราคาค่าบริการโดยเด็ดขาด เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้างในหมู่ผู้ประกอบการและคนงานในธุรกิจดังกล่าว
ปิแอร์ เอ็นเยเม็ก ประธานสหภาพแรงงาน “CGSTC” ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานภาคขนส่งที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของแคเมอรูนออกมาระบุว่า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศเป็นอัมพาตในสัปดาห์หน้าก็ต้องยินยอมให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าได้โดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแคเมอรูน
ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เรียกร้องอย่างยาวนาน ให้รัฐบาลแคเมอรูนภายใต้การนำของประธานาธิบดีปอล บิยาที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1982 ยุติการดำเนินมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณมากกว่า “ปีละ 600 ล้านดอลลาร์” และซ้ำเติมปัญหาขาดดุลงบประมาณของประเทศให้เลวร้ายหนักข้อกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบิยาได้ชะลอการตัดสินใจดังกล่าวเรื่อยมา แม้จะเผชิญการขาดดุลงบประมาณในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 5.5 ของจีดีพี เนื่องจากหวั่นสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมือง และเกรงจะเกิดปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ซ้ำรอยวิกฤตการประท้วงของ “คนขับรถแท็กซี่” ทั่วประเทศเมื่อปี 2008 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน